#Petdo (Talkshow)

วันที่ 24 เดือนกรกฎาคมนี้ จะมีงาน talkshow ในชื่อ #petdotalkshow ที่หอประชุมปรีดีย์ฯ ซอยทองหล่อ กรุงเทพนะครับ

ไหนๆ ก็ไหนๆ ขอเล่าประวัติเรื่องนี้สักเล็กน้อย


p7.png
ตอน “ไม่ได้จ้างมาสร้างบั๊ก”

“Petdo” (@petdo ใน twitter หรือที่เว็บไซต์ iampetdo.com) เป็นการ์ตูน 4 ช่องจบในตอน (เป็นส่วนมาก มีเป็นตอนต่อบ้างเป็นบางครั้ง) ที่มาจากผลงานสร้างสรรค์ของน้องๆ ที่เพิ่งจบการศึกษาจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มีความฝันและมาก่อตั้งทีมงานด้วยกันในชื่อบริษัท Urchin Image โดยได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ม.ศิลปากร ซึ่งตัวผมเองเคยเป็นผู้ช่วยผู้จัดการอยู่ในระยะหนึ่ง โดยน้องต้น (@bluefrog_su) เป็นตัวตั้งตัวตีและเรี่ยวแรงหลัก มาพร้อมกับๆ เพื่อนอีกหลายคน คือ น้องสิงห์ น้องกก น้องฟลุ๊ค น้องลี น้องจุ๊บ (ชื่อจริงชื่อ น้องบริสุทธิ์ … แต่เป็นผู้ชายนะ หน้าโหดหนวดเฟิ้ม … “ตาหนวด” ในเรื่อง Petdo จริงๆ ก็ได้แบบมาจากคนนี้นี่แหละ ไม่ใช่ผม) น้องโหน่ง โดยมีความฝันอยากจะทำ Digital Content เกม งานออกแบบ งาน animation ฯลฯ ตามสาขาที่จบมา


p4.png.jpg
ตอน “ยุบองค์กรหนี”

แต่ด้วยความที่เป็นทีมงานใหม่ ประสบการณ์ไม่มี ผลงานไม่มี ก็ดิ้นรนกันไป รับงานกันไปเรื่อยๆ โดยแต่ละงาน ก็ได้เรียนรู้โลกความเป็นจริง ส่วนมากจะ under-budget, over-expectation แต่ไม่เป็นไร ได้เรียนรู้ และก็ประสบการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่มีโปรดักท์เป็นของตัวเองสักทีหนึ่ง

สักพัก ก็ได้ทีมงานเพิ่มขึ้น คือ น้องเกด ที่อยากทำงานออกแบบเว็บไซต์ และน้องเพชร ที่เคยรับงานทำเว็บและเขียนโปรแกรมมาบ้าง มาอยู่ในทีมด้วย แต่งานหลักก็ยังคงเป็นการรับงานเล็กๆ น้อยๆ เป็นหลัก


p1.png.jpg
ตอน “Petdy ที่รัก”

ตัวผมเอง ก็เหมือนอยู่ในฐานะ “พี่เลี้ยง” ของน้องๆ กลุ่มนี้ ซึ่งข่วยด้วยความที่อยากเห็นความฝันของน้องๆ เป็นจริง ไม่ได้คิดอะไรมากกว่านั้น และพยายามจะช่วยคิดหาโปรดักท์ของน้องๆ เอง ขึ้นมาให้ได้สักตัว ก็คิดหลายอย่าง ลองผิดลองถูกอยู่หลายอย่าง แต่สุดท้ายก็ยังไม่เห็นทางสว่าง (ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร) ทรัพยากรเวลา ที่น้องๆ เหล่านี้ขอทางบ้านมา เพื่อขอลองผิดลองถูกกับชีวิต ก็ร่อยหรอไปทุกวัน

และแล้ววันหนึ่ง ผมเดินเข้ามาในออฟฟิสของน้องๆ เพื่อช่วยคิดหาทางและให้กำลังใจต่อไป ก็เห็นตัวการ์ตูนตัวหนึ่ง ที่น้องกก (@yoshikokvin) วาดเอาไว้เล่น ก็เลยเกิดไอเดีย “ไอ้นี่แหละ! โปรดักท์ล่ะ!” ซึ่งก็เหมือนกับฟางเส้นสุดท้ายอีกเส้นครับ อะไรคว้าได้ ลองได้ ก็ลองไปเลย และแล้ว “Petdo” ก็เกิดขึ้น ด้วยคอนเซปท์ที่อยากเป็นการ์ตูนแบบ Dilbert หรือ Garfield

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ใกล้กับงาน Twiter BKK ครั้งที่ 3​ ซึ่งตัวผมเองก็ได้เสนอตัวไปพูดไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว ก็เลยคิดว่าจะใช้ตัวการ์ตูนนี้ในงานนั้น เพื่อช่วยเหลือน้องๆ ในการโปรโมทงานที่เกิดจากความคิดของน้องๆ เค้า การตอบรับจาก Twitter BKK ดีพอสมควร ถึงโดยส่วนตัวผมจะยอมรับเลยว่า performance ผมบนเวทีวันนั้น “ห่วยมาก” ถึง “มากที่สุด” ก็ตาม


p2.png.jpg
ตอน “นี่แหละ ปัญหา”

ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทำให้ Urchin Image เกิดการ “แพแตก” ไประดับหนึ่ง น้องๆ หลายคนที่ร่วมสร้างฝันมาด้วยกัน ก็ไปหางานทำ งานที่เหมาะและได้ทำสิ่งที่เค้าต้องการจะทำจริงๆ ซึ่งที่ Urchin Image ยังไม่มี scale พอที่จะรับงานระดับนั้นได้ แต่ก็ยังมีน้องอีกไม่กี่คนเหลืออยู่ ที่ยังคงอยากจะสู้ต่อไปกับหนึ่งโปรดักท์ที่พวกเขาสร้างขึ้นมา ในขณะเดียวกันก็คือรับงานอื่นๆ ช่วยเรื่องทุนทรัพย์ต่อไปเรื่อยๆ

ทุกวันนี้ การ์ตูน Petdo วาดมาแล้วถึง 118 ตอน โดยออกทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ โดยคนทำงานหลักๆ คือ น้องสิงห์ (@singya_cosmo คนที่วิ่งเอาตุ๊กตามาให้ผมไหว้ บนเวที #igniteTH) ซึ่งทำโดยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้นจากงานนี้ ตั้งแต่วันแรกจนถึงทุกวันนี้ น้องสิงห์ก็ยังคงทำและตั้งใจทำอยู่เหมือนเดิม


p3.png.jpg
ตอน “คอมพิวเตอร์มันเร็ว”

ผมเองอยากจะให้ Petdo เป็นโปรดักท์ที่อยู่รอดได้ด้วยตัวมันเอง และให้น้องๆ ที่สร้างสรรค์งานนี้ขึ้นมา หาเลี้ยงชีพได้จากผลงานของตัวเอง ที่เป็นผลงานที่เค้าภูมิใจ ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจจะสร้างเสียงหัวเราะให้กับใครหลายๆ คน

ผมเคยพูดกับน้องๆ เหล่านี้เสมอ ว่าเราควรจะมีเงินพอมีพอใช้ ไม่ต้องถึงกับรวย ด้วยการทำให้คนอื่นมีความสุข เงินที่เราได้ ควรเป็นอัตราส่วนแปรผันตรงกับความสุข/เสียงหัวเราะที่เราได้สร้างให้กับคนอื่น


p5.png.jpg
ตอน “โรงเรียนของเราน่าอยู่”

Petdo ไม่ใช่ผลงานของผม ถึงหลายๆ คนจะเข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น และยกย่องให้ผมเป็น “ผู้สร้าง” ก็ตาม แต่ Petdo เป็นผลงานของน้องๆ ใน Urchin Image ตั้งแต่ต้น จนถึงตอนนี้ และก็จะยังคงเป็นต่อไป อยากให้หลายๆ คนเข้าใจด้วย ว่าทำไมผมไม่ “ทำการกุศล” กับงานชิ้นนี้ …. (ถ้างานชิ้นนี้เป็นงานส่วนตัวของผม ผมคงจะทำการกุศลกับงาน Petdo นี้ได้ไม่ยาก และไม่ต้องคิดมากเท่าใดนัก)

ผมเป็นเพียงพี่เลี้ยงของน้องๆ กลุ่มนี้เท่านั้น โปรดักท์ของ Petdo ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตา Talkshow หมวก เสื้อ น้องกลุ่มนี้ทำเอง โดยผมมีหน้าที่แค่ให้คำปรึกษา ซึ่งผมขอยอมรับตามตรงเลยครับ ว่าผมอยากเห็นน้องๆ กลุ่มนี้อยู่รอดให้ได้ ด้วยสิ่งที่เค้าอยากสร้างขึ้น ซึ่งผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกัน และไม่ทราบเลยจริงๆ ว่าจะได้อีกนานแค่ไหน ด้วยสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (ที่ยังไม่มีโปรดักท์หลัก ที่สามารถทำเงินเลี้ยงตัวเองกันได้)

และอยากจะบอกว่า งานนี้ “ผมไม่ได้อะไรแม้แต่บาทเดียว!” เพราะว่าผมได้สิ่งที่ผมต้องการแล้ว นั่นคือ แค่ได้เป็นพี่เลี้ยงของน้องกลุ่มนี้ ที่ทำเพื่อฝันของตัวเอง สนุกกับงานที่ทำ และเห็นน้องๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นความสุขและเป็นเกียรติที่สุดของผม ในฐานะพี่ชาย ในฐานะอาจารย์ แล้ว …

ดังนั้น “รักการ์ตูน Petdo ชอบการ์ตูน Petdo …​” พบกันที่ Petdo Talkshow นะครับ! (Click ที่นี่ หรือ Banner ด้านบนเลยครับ)


p8.png.jpg
ตอน “ก็หนูจะเอาง่ะ”

ป.ล. เนื้อหาของ Talkshow จะมีดังนี้ครับ (ขอรับรองด้วยเกียรติของ[อดีตโคตรๆ] ลูกเสือ ว่าเน้น “ฮา” และ “สร้างสรรค์” ไอ้ด่ากันน่ะ “ผมไม่เอาด้วย”

  • User vs. Developer
  • ขำขันการศึกษา
  • เก็บตกจากร้านขายของ IT

ดูบอล สะท้อนงาน

ว่าจะเขียนเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนฝรั่งเศสแข่งนัดสุดท้ายแล้ว แต่ยังไม่ได้เขียนสักที ขอเขียนสักหน่อย ไหนๆ ช่วงนี้ฟุตบอลโลก 2010 ที่ประเทศอัฟริกาใต้ ก็ใกล้จะถึงจุดไคลแมกส์แล้ว พร้อมกับหน้าตา 4 ทีมสุดท้าย คือ อุรุกวัย เยอรมัน สเปน และเนเธอแลนด์ ส่วนทีมที่ตกรอบไปแล้ว ก็นอกจากนี้ทั้งหมด รวมถึงทีมเต็ง ไม่ว่าจะด้วยชื่อชั้นของประเทศ หรือผู้เล่น อย่างบราซิล ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี

ผมไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ฟุตบอล หรือการทำงานของผู้จัดการทีมคนไหนในฟุตบอลโลกนะครับ ผมเชื่อว่าทุกคนก็ทำเท่าที่เค้าจะทำได้แล้ว แต่ผมอยากจะมองมัน แล้วนำกลับมามองสะท้อนข้อคิด ข้อสังเกต ลงไปที่การทำงานสักหน่อย โดยผมอยากจะมองในลักษณะของ System Thinking ซึ่ง The Whole is greater than sum of its part โดยก่อนอื่นผมขอเอาทวีตที่ผมทวีตในสัปดาห์ก่อนมาใส่ตรงนี้ก่อนละกันนะครับ ใส่แบบไม่ดัดแปลงใดๆ ไม่เพิ่มไม่ลด และตามลำดับการทวีตครับ

  • ฝรั่งเศส เป็นตัวอย่างที่ดีของการมี 11 parts ที่สุดยอด แต่ whole (team) ที่ล้มเหลว เต็มไปด้วยปัญหาภายใน และไร้ซึ่ง team spirit
  • องค์กรทั้งหลายดูไว้ และคิดให้ดี ว่าเหมือนกับองค์กรท่านหรือเปล่า ที่มีแต่อยากได้สุดยอดบุคลากร แต่อย่างอื่นๆ เหมือนทีมชาติฝรั่งเศส
  • อย่าแก้ปัญหาที่เกิดจากการไร้ระบบการเล่น ไร้การประสานงาน ไร้ทีมสปิริต ด้วยการเอาผู้เล่นเก่งๆ เข้าทีม
  • เพราะเค้าจะเก่งแค่ไหน ทำได้อย่างมากก็แค่ประคองทีม แบกทีมไว้บนบ่า ใช้ความสามารถได้ไม่เต็มที่ มีแต่ปัญหา และสุดท้ายเค้าก็ไป
  • ถ้าผู้เล่นคนนั้นเป็นกองหลัง จะเสียคนเพราะกองกลางเกียร์ว่าง ปล่อยให้หลุดมาทุกอย่าง วิ่งสะกัดแค่ไหน ก็ไม่อยู่ ขึ้นไปทำประตู เพื่อนด่า
  • ถ้าผู้เล่นคนนั้นเป็นกองกลาง วิ่งพล่านเชื่อมเกม แต่คนอื่นๆ ไม่สนใจ ก็แค่ยืนๆ ตำแหน่งตัวเองไป จ่ายบอลไม่วิ่ง ถวายบอลให้ไม่ยิง ก็แย่
  • ถ้าผู้เล่นคนนั้นเป็นกองหน้า จะเอาบอลจากไหนมายิง เพราะไม่มีคนส่งให้ ไม่มีคนทำเกม ลงมาล้วงบอลเอง เหนื่อย
  • ถ้าผู้เล่นคนนั้นเป็นประตู รับรองว่ารับเละ ตะโกนสั่งกองหลังก็เฉย แถมเป็นแพะรับบาปที่ง่ายที่สุด ไม่เสียคนก็ดีแล้ว

ลักษณะผู้เล่นแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเก่งในการเป็นกองหน้าตัวจบสกอร์ ซึ่งโดยลักษณะแล้วไม่ควรต้องลงมาล้วงลูกเองตั้งแต่ในแดนตัวเอง เพื่อทำเกม บางคนเป็นตัวเชื่อมเกม ระหว่างกองหลังกับกองหน้า บางคนเป็นตัวจ่าย มี Killer Pass สวยๆ ทีเดียวหลุดไปถึงประตู บางคนเป็นปีกที่มีความเร็วสูง ซิกแซกได้ทุกช่อง ก่อนจะเปิดให้กองหน้าจบสกอร์

ประเด็นคือ “ฟุตบอลเป็นเกมของ 1 ทีม ไม่ใช่ผลงานของ 11 ผู้เล่น”

มาดูอีกตัวอย่างหนึ่ง

  • อาร์เจนติน่า เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ในการมี 11 parts ที่ดีมาก และทีมที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง
  • การไม่เลือกตัวผู้เล่นบางตัวเข้ามาในทีม เพื่อให้เป็น 11 parts ที่สุดยอด อาจเป็นผลบวกกับทีมของอาร์เจนติน่า เนื่องจากการมี part บาง part อยู่ใน whole มันทำให้ whole เสีย เพราะว่ามันเป็น incompatible parts เป็น part ที่ทำให้ whole เสีย กลายเป็น part หรือ sub-whole หลายๆ ส่วนอย่างสมบูรณ์
  • อาร์เจนติน่า มีทีมสปิริตที่ดีมาก (จากที่เห็น และรับข่าวสารมา)
  • แต่ …. แต่ …. อาร์เจนติน่าเป็นทีมที่ไร้ซึ่งระบบการเล่น ระบบการทำงานประสานกันอย่างชัดเจน เป็นทีมที่เล่นด้วยความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่นไม่กี่คน ที่ต้องแบกรับภาระของการพาทีมไปข้างหน้า และคนที่ยิ่งเก่ง ยิ่งต้องแบกภาระหนัก เป็นธรรมดา ซึ่งในกรณีของอาร์เจนติน่านี้ก็คือ Lionel Messi ที่ค่อนข้างจะแบกทีมไว้ทั้งทีม

มันพูดง่ายนะ ว่าแพ้ก็แพ้ทั้งทีม ชนะก็ชนะทั้งทีม เล่นเพื่อทีม แต่วิธีการเล่นก็ยังเล่นกันแบบส่วนตั๊วส่วนตัว การประสานงานแบบเป็นรูปธรรมไม่ค่อยมี มีแต่ลุยกันไปเอง จ่ายให้คนอื่นเฉพาะเวลาที่ตัวเองตัน และไม่ค่อยไปช่วยกันเล่นต่อ ให้อีกคนไปตายเอาดาบหน้าเอง

ในกรณีที่โจทย์ง่ายพอ (นั่นคือทีมที่ค่อนข้างห่างชั้นกับอาร์เจนติน่า) การเล่นแบบนี้จะใช้ได้ผลค่อนข้างจะโอเคในระดับหนึ่งเลยทีเดียว เนื่องจากผู้เล่นแต่ละคนเก่งมาก ดังนั้นก็จะหาทางเอาตัวรอดเองไปได้เรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่าง Messi ที่หลายทีเอาตัวรอดได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่ถ้าโจทย์มันยากขึ้นมา จะเจอปัญหาทางตันหลายอย่าง ซึ่งวิธีการแบบนี้จะลำบากขึ้นมา ถึงจะมีโอกาสยิง โอกาสจบสกอร์ ก็ไม่ใช่ว่ามันจะมาเรื่อยๆ เหมือนกับมีระบบสายพานผลิตโอกาส โดยเฉพาะในกรณีโดนกดดัน ยิ่งความกดดันยิ่งสูง ยิ่งกรณีใกล้ล้มเหลว จะเห็นข้อเสียของทีมที่เล่นแบบชายเดี่ยว 11 คน ที่ “เล่นเพื่อทีม ด้วยวิธีการของตัวเอง” มากขึ้น

ซึ่งเห็นได้ชัดในนัดที่เจอกันเยอรมัน เมื่ออาร์เจนติน่าเสียประตูก่อน และเสียประตูเร็ว ทำให้อาร์เจนติน่าต้องอยู่ในภาวะกดดันที่ว่านี้ และการทำลายอาร์เจนติน่าด้วยวิธีง่ายๆ คือ “การไม่ให้ Messi เล่นบอลได้” พอกำลังจะทำอะไร ก็เข้าไปกวนเข้าไป กวนเข้าไป ให้หันหลังให้กับประตู (Goal; เป้าหมาย) ซะ ก็หมดเรื่อง ต่อให้เก่งเหนือมนุษย์แค่ไหน ก็ทำอะไรไม่ได้มาก ยิ่งคนที่มารุม เป็นคนที่ “รุมตามแผน ตามกระบวนการ และมีวินัยในการรุม” ด้วยแล้ว ยิ่งไปใหญ่ เมื่อผู้เล่นได้บอล การส่งบอลขึ้นหน้าแต่ละครั้ง เป็นการส่งให้ผู้เล่นแต่ละคน ซึ่งแม้ความสามารถเฉพาะตัว และจินตนาการในการเล่น จะสูง ก็เหมือนส่งไปเจอทางตัน และไม่ลงท้ายที่เป้าหมาย (Goal; ประตู)

อย่างน้อยกรณีของอาร์เจนติน่า ก็ยังดีกว่ากรณีของฝรั่งเศส ที่ความเชื่อมั่นกันเองในทีมมีสูงกว่า ผู้เล่นทุกคนเชื่อใน Maradona และ Messi และเล่นเพื่อทีม ดังนั้นผลมันก็เลยออกมาดีระดับหนึ่ง แผนการเล่นเดียวของอาร์เจนติน่าที่ผมเห็น คือ จ่ายบอลให้อีกคน ด้วยความเชื่อว่าเค้าจะเอาตัวรอดได้ และบรรลุเป้าหมายได้ โดยที่ไอ้ “อีกคน” ที่ว่าเนี่ย มักจะเป็นคนที่พิสูจน์แล้วว่า “เก่งที่สุดในโลก” คนหนึ่ง …. ดังนั้นกรณีที่คนอื่นไม่อยากให้ทีมนี้ประสบความสำเร็จ ก็ง่ายครับ หาทางขวางคนเหล่านี้ให้ได้ เป็นอันจบ

ข้อคิดแรงๆ ที่ได้จากเรื่องนี้ทั้งหมดก็คือ กระบวนการทำงาน การซักซ้อมความเข้าใจในกระบวนการ การเล่นตามกระบวนการ และการมีวินัยในกระบวนการ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ยิ่งเมื่อได้ผู้เล่นที่ดีมาก มาเล่นในกระบวนการที่สุดยอด จะเอาชนะคู่แข่ง ที่มีผู้เล่นระดับสุดยอด แต่ไร้ซึ่งกระบวนการได้ไม่ยาก แม้ว่าสุดยอดผู่เล่นเหล่านั้น จะเล่นเพื่อผลของทีมก็ตาม มันสู้ทีมที่สร้างระบบเพื่อผลสำเร็จสูงสุดตั้งแต่ต้นไม่ได้หรอก

ประเด็นคือ “ฟุตบอลเป็นเกมของทีม ไม่ใช่แม้แต่ 11 ผู้เล่นที่เล่นเพื่อทีม แต่เล่นตามใจ” ครับ

ทีมจากเอเซียหลายทีม เข้าข่ายนี้ครับ คือ มีระบบทีมที่ดี มีวินัยที่ดีในการเล่นตามกระบวนการ ตามระบบที่สร้างและวางไว้ ดังนั้นถึงความสามารถเฉพาะตัวจะสู้ไม่ได้ แต่ทีมทั้งทีมมันสู้ได้ สูสี แพ้ชนะไม่น่าเกลียด

วันนี้พอแค่นี้ก่อน จบบอลโลกจะเขียนต่อนะครับ

ฝากไว้ครับ ลองอ่านประเด็นที่เกี่ยวข้องใน Positive Thinking in Petsitive World ด้วยนะครับ

Pencast วิชา​ Visual Simulation ครั้งที่ 4

ก่อนอื่นต้องขอชมน้องๆ หลายคนก่อนว่า ทำการบ้านครั้งที่แล้วได้ดีมากเลยครับ

เนื้อหาคราวนี้หลักๆ เป็นการเชื่อมโยงเนื้อหาคราวที่แล้ว (1D Dynamical System; Logistic Equation) กับเรื่องที่นักศึกษาสาขา animation คุ้นเคย นั่นก็คือ การกำหนดค่าการเคลื่อนไหวต่างๆ ให้กับ animation ก็หวังว่าจะทำให้หลายๆ คนเข้าใจบทบาทของ Dynamical system simulation กับการประยุกต์ใช้งานในเรื่อง animation มากขึ้นบ้าง

  1. ตอนที่ 1: Simple Dynamical System & Animation Control ขนาด 7.8 MB

  2. ตอนที่ 2: Simple Dynamical System & Animation Control (ต่อ) ขนาด 5.3 MB

  3. ตอนที่ 3: 2D Rule-based Dynamical System ขนาด 2.3 MB

  4. ตอนที่ 4: การบ้าน (นิดๆ หน่อยๆ) ขนาด 639 KB
    7.01 VS: Homework
    brought to you by Livescribe

ไฟล์เอกสาร (PDF) : VS_4_1.pdf, VS_4_2.pdf

หลังจากนั้น เนื่องจากน้องๆ หลายคนยังไม่เข้าใจการบ้านเท่าไหร่ ว่าจะต้องส่งอย่างไร ทำอะไร ต้องใส่อะไรบ้าง ฯลฯ (ถึงแม้ว่าผมจะให้ keyword “Cellular Automata” ในการ search google, wikipedia ซึ่งผมบอกว่า จะเอารูปจากเค้ามาเลยก็ได้ ไม่ผิด ก็ตาม) ซึ่งก็พอจะเข้าใจนักศึกษานะครับ ก็เลยต้องเปิด “เฉลย” การบ้านให้ดูก่อน ว่าให้น้องๆ ทำตามนี้แหละ เขียนส่งมาแค่นี้แหละ ซึ่งตรงนี้ไม่ได้บันทึกไว้ เพราะว่าเป็นการเปิดจากไฟล์ presentation ในเครื่อง (ผมไม่สามารถเขียนภาพผลการรัน Cellular Automata กฏ 110 ด้วยมือได้ครับ เกินความสามารถ) ก็เลยเอาภาพและ animation บางส่วน ที่สร้างจากการประยุกต์ใช้ Cellular Automata ดังๆ อย่าง Conway’s Game of Life ให้น้องๆ ดูไปด้วย

ก็ต้องขออภัยนะครับ ที่ในส่วนนั้นไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้