เล่าประสบการณ์ “iPad”: #3 ทำงาน

ต่อจากตอนที่ 1 (Background) และตอนที่ 2 (อ่านหนังสือ) ก็มาถึงเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผมอยากเล่าถึงเจ้า iPad ซึ่งก็คือเรื่อง “การทำงานแบบ casual แทนคอมพิวเตอร์ได้บ้าง” ซึ่งจริงๆ ก็เขียน requirement นี้ไว้ตั้งแต่ตอนที่ 1 แล้ว แต่ว่าทิ้งช่วงไปพักใหญ่ๆ เพราะว่าไม่ค่อยว่างจะเขียน

สำหรับการทำงานนั้น เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่า Apple เองนั้นก็ได้วางตำแหน่งของ iPad ในลักษณะ casual work ด้วยเช่นกัน ด้วยการออกชุดโปรแกรม iWork สำหรับ iPad ซึ่งประกอบด้วยโปรแกรมมาตรฐานสำหรับชุดนี้ นั่นก็คือ Pages, Keynote, Numbers แต่ว่าสามารถซื้อแยกกันได้

อ่อ ลืมไป สำหรับคนที่ไม่มี account ที่ใช้ iTunes Store USA ได้ ก็เสียใจด้วย เพราะว่าจะซื้อ/โหลดโปรแกรมไม่ได้ (รวมถึง iBooks ด้วย) ซึ่งปัญหานี้แก้ได้โดยซื้อ iTunes Gift Card ตาม e-Bay ซึ่งมีคนซื้อมาขายเรื่อยๆ กินกำไรเล็กๆ น้อยๆ ราคาค่อนข้างดีพอสมควร ก็ซื้อพวกนี้มา redeem สร้าง account เอา

ผมคิดเอาไว้ว่า นอกจากโปรแกรมในชุด iWork แล้ว จะต้องมีโปรแกรมอีก 4-5 ตัวเป็นอย่างน้อย ถึงจะใช้ทำงานได้ เช่น โปรแกรมบันทึกรายรับรายจ่าย และวางแผนการเงินเบื้องต้น โปรแกรม Mindmapping โปรแกรมสมุดโน๊ต (Journaling) ที่ค่อนข้างเฉพาะทาง และใช้งานไม่ยาก โปรแกรมฐานข้อมูลง่ายๆ และโปรแกรมเชื่อมต่อกับ Google Doc ก็น่าจะครบในระดับหนึ่งแล้ว

โปรแกรมเหล่านี้ หาไม่ยากแต่อย่างใด เพราะว่ามีคนทำขายค่อนข้างเยอะอยู่ ราคาก็ถือว่า OK โดยทั่วไปจะสูงกว่าโปรแกรมบน iPhone อยู่นิดหน่อยถึงปานกลาง (แต่ว่าที่แพงๆ หน่อย เทียบกับราคามาตรฐาน เช่น ​Papers ก็มีเช่นกัน แต่ว่ายังไงๆ ตัวนี้ผมก็ซื้อนะ เอามาอ่าน papers ซึ่งก็ทำงานได้ดีพอสมควร)

สำหรับโปรแกรมในชุด iWork นี่ตอนนี้ซื้อมาแค่ Numbers และ Keynote เพราะว่าตราบใดก็ตามที่ยังไม่มีคียร์บอร์ดภาษาไทยแบบดีๆ ผมก็ยังทำงานกับเอกสารภาษาไทยไม่ได้อยู่ดี ดังนั้นมี Pages ไปก็ค่อนข้างจะเท่านั้น และเท่าที่ลองๆ ดู ก็พบว่าทั้งสองตัวทำงานได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะเมื่อมีคนส่งไฟล์มาให้ผมแก้ หรือว่าเพิ่มข้อมูลอะไรบางอย่าง (ซึ่งส่วนมากจะเป็นไฟล์ Excel)

สำหรับโปรแกรมอื่นๆ นอกนั้นก็ทำงานได้อย่างที่คาดหวังไว้ ด้วยขนาดของหน้าจอที่ใหญ่พอให้ทำงานได้จริง เมื่อเทียบกับ iPhone ซึ่งผมคิดมาตลอดว่า มีข้อจำกัดด้าน Physical มากเกินไปสำหรับการทำงาน Productivity จริงจัง โดยสำหรับ iPad แล้ว การตอบเมล์ที่ยาวขึ้น การเขียนอะไรที่ยาวขึ้น รวมถึงการใช้งาน Productivity Apps ต่างๆ ในการกรอกข้อมูล หรือบริหารจัดการข้อมูลที่กรอกไปแล้ว ค่อนข้างจะทำได้ดี ทำให้ผมมีมั่นใจที่จะพกมันไปไหนมาไหนในโหมด “อ่านเป็นหลัก เล่นเน็ตบ้าง และเผื่อทำงานถ้าจำเป็น” มากขึ้นเยอะ

ตอนนี้สิ่งที่ขาดที่สุดสำหรับ iPad คือ Mind Mapping ที่ดีและใช้งานง่าย ไม่เน้นฟีเจอร์ แต่เน้นสร้าง Mind Map โง่ๆ ได้แบบด่วนๆ และไม่ขัดกับธรรมชาติการใช้งาน (และ compatible กับโปรแกรมที่ผมใช้อยู่บน Desktop .. อย่างน้อยๆ ก็ให้เปิดไฟล์กันได้) นอกจากนี้อาจจะขาดพวก Personal Wiki หรือ Information Organizer ที่ยืดหยุ่นสักหน่อย ใช้งานในลักษณะ Wiki ส่วนตัวได้ ก็น่าจะจบแล้ว (ระบบเชื่อมด้วย Tag ของโปรแกรม Journaling บางตัวก็ดีนะ แต่ว่ามันยังไม่พอ อยากจะเชื่อมด้วย Wiki Word ไปเลยจะหมดเรื่องหมดราวมาก)

สำหรับเรื่อง Personal Wiki นี่กำลังจะลอง WikiPad ว่าเป็นยังไง ถ้ามันโยน Text File ออกมา sync กับโฟลเดอร์ในเครื่องได้จะ Work มาก เพราะว่าในเครื่องนี่ใช้ Plain Text Wiki สำหรับ TextMate อยู่

โปรแกรมเชื่อมต่อกับ Google Doc ตอนนี้ใช้งานได้ในลักษณะ Viewer อย่างเดียวล่ะมั้ง ตัวที่แก้ไขได้ยังไม่เจอเลย (หรือว่าผมใช้ไม่เป็นเองหว่า) แต่ว่าแค่ Download ได้นี่ก็พอแล้ว เพราะว่าเราให้คนส่งข้อมูลหลายอย่างใน Google Spreedsheet นี่นะ แค่ดูได้ ผมก็ค่อนข้างจะ happy แล้ว แล้วมันก็ sync เป็นเวอร์ชันปัจจุบันกับ Google Doc ให้เรื่อยๆ ก็ดีระดับหนึ่ง

มีอะไรจะอัพเดทเพิ่มเติมนะครับ และตอนต่อไปก็คงจะเขียนเรื่อง “เล่นเกม” ซะหน่อย

เล่าประสบการณ์ “iPad”: #2 อ่านหนังสือ

หากท่านยังไม่ได้อ่าน “ตอนที่ 1: Background” กรุณาอ่านก่อนนะครับ เพราะมันต่อกัน

ผมยอมรับอย่างหนึ่ง ว่าผมไม่ได้ดู Keynote งานเปิดตัว iPad เพราะว่าผมไม่ค่อยสนใจเรื่องอื่นๆ มากนัก ทุกวันนี้ผมอ่านหนังสือกับ iPhone ผ่านโปรแกรม Stanza บ้างอยู่แล้ว และก็ค่อนข้างพอใจกับมัน แต่มันก็ยังไม่เหมือนกับอ่านหนังสือจริงๆ เนื่องจาก form factor ของมันทำให้อุปกรณ์ต้องอยู่ใกล้กับตัว (ตา) มากกว่าที่ผมชอบ (ถ้าอ่านหนังสือจะวางมันไกลกว่านั้น อาจจะเป็นบนตักหรือบนโต๊ะ)

แต่ผมกลับทำใจอ่านหนังสือ (PDF, Kindle) บน Laptop เป็นหลักไม่ได้ ไม่ใช่เพราะว่าเหนื่อยสายตาหรอกครับ (ทุกวันนี้ดูจอคอมพ์ตลอดก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว) แต่เพราะเหตุผลเดียวกับ iPhone และท่าทางการอ่านมันยิ่งผิดธรรมชาติมากขึ้นไปอีก เพราะคอมพิวเตอร์ทุกวันนี้มันถูกออกแบบมาสำหรับ “นำข้อมูลเข้า” มากกว่า “บริโภคข้อมูล” ทำให้เมื่อผมใช้งานมัน dominant mode คือ “พิมพ์”

เอาล่ะ เสียเวลากันมากไปแล้ว ลองดูกันสักที ว่าถ้าผมมี requriement ตั้งต้นแบบนี้แล้ว เจ้า iPad จะตอบผมได้ดีแค่ไหน

อย่างแรกที่ผมทำ นั่นคือ ตรวจสอบว่ามีโปรแกรมอ่านหนังสือมากแค่ไหน และมีหนังสือเป็นดิจิทัลแค่ไหนแล้ว ซึ่งก็พบว่า มีมากพอสมควร และไม่ได้ lock อยู่ในรูปแบบเดียว โปรแกรมที่อ่านหนังสือได้ก็มีอยู่หลายตัว เช่น iBooks ของ Apple เอง ที่รองรับรูปแบบ ePub, Kindle ของ Amazon ที่เอาไว้อ่าน Kindle format (mobi) ที่ซื้อจาก Amazon (ในขณะที่ Kindle for Desktop ใช้ได้ แต่ว่า sync มาลงไม่ได้ นอกจากจะหาวิธีงัดแงะเอา) Zinio สำหรับอ่านวารสารนิตยสารที่ซื้อผ่าน Zinio เอาแค่นี้ก่อน

ทำไมต้อง check ขนาดนี้ … ไม่งั้นมันก็เข้าทำนอง “มีดโกนฟรี อาจราคาถูกไม่ถูกนัก ตราบใดก็ตามที่มีที่ซื้อใบมีดโกนที่เดียว” น่ะสิ นอกจากนี้ก็ต้องดูหน่อย ว่ามีโปรแกรมที่แปลงรูปแบบกันไปมาได้หรือเปล่า และผมก็พบว่า โปรแกรม Stanza บน Desktop นั้นสามารถแปลงรูปแบบได้ดีพอสมควร แต่ถ้าต้นทางเป็น PDF ก็ลองใช้ calibre ก็ได้ แต่อย่าคาดหวังมากนัก เนื่องจาก “รูปแบบของการจัดหน้า” ของ PDF ซึ่งเป็นรูปแบบที่เหมาะกับการพิมพ์ printed version และอาจเน้นการจัดหน้าเป็นหลัก เช่นวารสารทั่วไป หรือหนังสือแนวออกแบบ กับรูปแบบของ ePub, mobi ที่เน้นการจัดให้เรียบง่ายสุดๆ มันทำให้แปลงกันยาก

เมื่อตรวจสอบทั้งหมด จนแน่ใจว่าถ้าซื้อมา อย่างน้อยๆ ก็ซื้อหนังสืออ่านได้แน่ๆ และมีหนังสือที่อยากอ่านอยู่ใน Amazon store เป็นอย่างน้อยที่สุด และเอา Stanza แปลงเป็น ePub เพื่อโยน iBooks ได้ด้วยเนี่ย ผมก็โทรไปบอกคุณลิฟท์ @L77 ทันที โดยไม่สนใจว่าราคามันจะถูกหรือมันจะแพง เพราะว่าน่าจะเป็นอุปกรณ์ที่รอมานานแล้ว และก็เข้าไปเอาเครื่อง เมื่อเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา (วันที่ 9)

และเมื่อได้เครื่องมาอยู่ในมือแล้ว Step ถัดมา คือ การทำให้ตัว iPad เอง มีลักษณะคล้ายกับ “หนังสือที่พกไปมา” มากที่สุด …. ซึ่งตรงนี้ ผมเดินเข้า B2S ครับ เพื่อหา “แฟ้มเอกสาร” เอามาดัดแปลง ซึ่งรูปแบบแฟ้มเอกสารที่ผมต้องการคือ ไม่มี binder และมีที่ให้เสียบกระดาษประมาณ 50 แผ่น และมีขนาดประมาณ A5 ซึ่งจะพอดีกับขนาดของ iPad ก็มีให้เลือกหลายแบบหลายสีหลายราคา เลือกหากันตามสะดวกเลยครับ โดยอันที่ผมซื้อมานี่เป็นหนัง ราคาประมาณ 7xx บาท จากนั้นก็เอาคัตเตอร์มาเจาะรูด้านบน สำหรับหูฟัง และปุ่ม lock และด้านล่าง เพื่อเสียบสายขาร์จ และหน้าตาของมันก็ออกมาแบบนี้


P1010768.jpg


และพอเปิดออกมาแล้ว ก็จะเป็นแบบนี้


P1010771.jpg


อืมมม ไม่เลว ทีนี้ก็ลองมาดูสิว่าเวลาอ่านหนังสือมันจะหน้าตาและความรู้สึกยังไง

Untitled.001.jpg

จากซ้ายบน ตามเข็มนาฬิกา: iBooks+Bookmarks (highlight), Kindle+highlight+notes, Zinio, Zinio

ขอไล่ไปเป็นข้อๆ เลยละกันนะครับ โดยอันนี้จะอ้างอิงจาก requirement พิ้นฐานที่เขียนถึงไปแล้วในตอนที่ 1 เป็นหลักนะ

  • Form factor ต้องบอกว่า “ใช่เลย” ถึงน้ำหนักมันจะหนักไปสักนิดในการใช้งานจริง แต่ว่าถ้าวางไว้บนตักก็จะไม่รู้สึกอะไรเลย
  • วิธีการอ่านหนังสือ โดยใช้นิ้วเขี่ยในการเปลี่ยนหน้าหนังสือ ก็ต้องบอกว่า “ใช่” มากๆ โดยจะมี animation ของการเปลี่ยนหน้าหรือไม่มีก็แล้วแต่ (แต่ยอมรับแต่โดยดีครับ ว่ามี animation การเปลี่ยนหน้าให้ feel ดีกว่าเยอะมากๆ)
  • iBooks ทำงานลื่นไหลดีมาก ส่วน Kindle จะออกอาการอืดนิดๆ ถ้าให้มี animation …​ไม่เป็นไร ยอมได้นิดหน่อย ถ้าคิดว่ามันอืดก็ปิดซะ เรียกว่า iBooks เรื่อง feel และความเร็ว เหมือนอ่านหนังสือจริงๆ มาก ส่วน Kindle ถ้าจะเอา feel ในแง่ของรูปลักษณ์และความรู้สึกของการเปิดหน้ากระดาษ ก็จะเสีย feel ในแง่ของการตอบสนองนิดหน่อย
  • เรื่องการขนตู้หนังสือไปด้วยทั้งตู้ นี่ใช่เลย ถ้าหนังสือเป็น ePub อยู่แล้ว ให้โยนลง iBloat เอ๊ย iTunes เลยครับ มันจะจัดการเอง เหมือนกับเราใช้ iPod น่ะแหละ แต่ว่าถ้าเป็น Kindle เราต้องเข้าไปจัดการให้มัน deliver มาที่ iPad เราก่อน ซึ่งคนใช้ Kindle น่าจะคุ้นเคยกับ process นี้อยู่แล้ว (อีกครั้งนะครับ มัน sync กันโดยตรงระหว่าง Desktop และ iPad ไม่ได้ ต้องผ่าน services ของ Amazon เท่านั้น ซึ่งจริงๆ ก็ดีไปอีกแบบ)
  • การ highlight ทำได้ค่อนข้างดีและเป็นธรรมชาติค่อนข้างมาก ทั้งสองตัว
  • แต่ว่าทำไมหนอ … สิ่งที่ผมให้อภัยไม่ได้เลย ก็คือ ทำไม iBooks มัน annotate ไม่ได้? หมายถึงว่า ทำไมเราถึงเขียน note อะไรเพิ่มเติมไปไม่ได้เลย เพราะว่านี่เป็นสิ่งที่ผมทำบ่อยมาก (และผมเชื่อว่าหลายท่านทำบ่อยเหมือนกัน) คือ อ่านไปเขียนไป เวลาคิดอะไรออก ก็เขียนมันลงตรง margin หน้าน่ะแหละ ซึ่งตรงนี้เสียดายเป็นอย่างยิ่ง ถ้าทำระบบ note ดีๆ หน่อย ว่าตรงที่เรา annotate เนี่ย มันอยู่ตรงไหน หน้าไหน ย่อหน้าไหน ข้อความไหน กับ bookmark ไหน มันจะสุดยอดมากๆ และถ้ามัน search ได้ด้วยจะเป็นพระคุณมากๆ
  • ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าเรา export ข้อความจากหนังสือที่เรา highlight พร้อมกับ note ที่เราเขียนเพิ่มเข้าไป ออกมาเป็นไฟล์หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ และเชื่อมกับ Pages หรือ Keynote ใน iPad ได้เลย จะเป็นอุปกรณ์ทำงานที่เยี่ยมมาก เพราะว่าอ่านหนังสือจบเล่ม เราก็จะได้หนังสือเล่มเล็กๆ ของตัวเองเล่มหนึ่ง ชื่อว่า “My Hightlights and Annotated Thoughts in Reading (ชื่อหนังสือ .. อะไรก็ว่าไป)” ออกมาเลย นี่คงจะดีไม่น้อย (ผมทำอยู่บ่อยๆ แต่ว่ามันต้องพิมพ์ซ้ำไปซ้ำมา)
  • เลยยิ่งนึกยิ่งเสียดาย เพราะว่าคีย์บอร์ดที่มีมาให้ด้วย นี่ “ดีมาก” โดยเฉพาะใน Landscape mode ที่ผมพิมพ์ได้ความเร็วสูงพอสมควร คิดว่าสูงกว่า 45 WPM สบายๆ แต่ว่าถ้าเป็น Portrait mode นี่จะพิมพ์ลำบากกว่ามาก คือ สรุปว่า สำหรับตัวผมเอง ผมพิมพ์บน iPad ด้วยคีย์บอร์ดใน Landscape mode เร็วกว่าบน NetBook ของ Acer ที่เคยใช้อยู่แป๊บนึง … ถ้ามัน annotate ได้นะ คงอ่านหนังสือสนุกมากๆๆๆๆๆ เลย
  • ก็ได้แต่หวังว่า iBooks รุุ่นต่อไปจะแก้ปัญหาตรงนี้มานะ
  • อีกโปรแกรมที่ลงไว้ คือ Zinio ก็ถือว่าทำงานได้ดีเลย รู้สึกได้ชัดมาก ตอนที่จะนั่งอ่านอะไรที่มัน casual หน่อย เข่น เข้าห้องน้ำ แล้วเกิดอยากอ่านวารสาร เมื่อก่อนก็ต้องคุ้ยตู้หนังสือเพื่อหาวารสารเข้าไปอ่าน ก็มีแต่อ่านแล้ว อ่านแล้ว และอ่านแล้ว ก็เลยพกคอมพิวเตอร์เข้าไปนั่งเล่นเน็ตแทน อย่างน้อยก็มีอะไรใหม่ๆ ให้อ่าน หรือไม่ก็พก iPhone เข้าไป ซึ่งก็อ่านไม่สนุกอีก เนื่องจากจอมันเล็กไปนิด (แต่ว่าจริงๆ แล้ว iPhone ทำให้ผมอ่านเยอะขึ้นกว่าตอนใช้แต่คอมพ์เพียวๆ นะ เพราะว่ามัน consume ง่ายกว่า input/create) …​คราวนี้ก็เลย “ซื้อวารสารใหม่” มาอ่านมันซะตรงนั้นเลย เยี่ยมมาก
  • ถ้าเป็นวารสารที่มีรูป … เนื่องจากจอมันเจ๋งครับ แสดงผลได้สวยงามมาก (จากรูปด้านบน เป็น National Geographics)
  • นิดนึง ในกรณีที่อ่านด้วย Kindle ก็คงจะทราบกันแล้ว ว่ามัน deliver ให้กับอุปกรณ์ทุกตัวที่เราสั่งไป และ sync ให้หมด ดังนั้นถ้าผมอ่านอะไรค้างๆ อยู่บน iPad จะมาอ่านต่อบน iPhone หรือว่า Kindle ของ Amazon เองเลย ก็ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด
  • ถามว่าเมื่อยตามั้ย …. ไม่เมื่อยนะ เพราะว่าสิบปีผ่านไปกับการนั่งดูแต่ LCD ทำให้สายตามันคงจะชินแล้วล่ะ
  • ยังไม่ได้ลองอ่าน PDF ด้วย Goodreader แต่ว่าซื้อมาแล้วล่ะ เดี๋ยวจะจัดการต่อว่าเป็นไง แต่ทำไมมันไม่ทำให้ iBooks อ่านได้ด้วยก็ไม่รู้

สามวันผ่านไป ผมอ่านหนังสือจบไป 2 เล่ม ซึ่งเล่มหนึ่งเป็นหนังสือที่จริงๆ ซื้อ printed version มาดองไว้นานแล้ว แต่ยังไม่ได้อ่าน …. ส่วนอีกเล่ม ซื้อมาและอ่านได้ส่วนหนึ่งใน Stanza แต่ว่าไม่ได้ไปถึงไหนมาก เพราะว่ามันอ่านไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ แต่ว่าพอมาใช้ iPad นี่อ่านสนุกมาก

แค่นี้ก็คุ้มมากแล้วในความรู้สึกผม …. สรุปสั้นๆ ว่า

“iPad เป็นอุปกรณ์ที่ผมรอมานานมาก นับสิบปีแล้วที่อยากให้มีของแบบนี้”


เพราะว่ามันจะทำให้ผมอ่านหนังสือได้เยอะกว่านี้ เสียเงินซื้อหนังสือ (ต่อเล่ม) น้อยกว่านี้ ลำบากในการขนส่งหนังสือน้อยกว่านี้มาก (ตอนซื้อ Amazon นี่ ค่าหนังสือและค่าขนส่งนี่หนักเหมือนกัน เคยคิดกับพ่อเล่นๆ ว่าผมซื้อหนังสือไปเท่าไหร่แล้ว …. ก็เอาเรื่องอยู่เยอะ) และพอหนังสือมันเป็นดิจิทัลแล้ว เวลามีอัพเดทก็สามารถ download ใหม่ได้ (ถ้า publisher ทำให้) เฮ้อ แต่เสียดายมากๆ ที่ “ทำไม iBooks มัน annotate ไม่ได้วะ” (อันนี้โคตรแค้นฝังหุ่น) … เดี๋ยวตอนหน้าจะเล่าประสบการณ์เรื่องที่เหลือนะครับ เรื่องการใช้มัน “ทำงานแบบ casual”

เล่าประสบการณ์ “iPad”: #1 Background

ไหนๆ ก็ซื้อมาแล้ว ลองใช้งานก็หลายวันแล้ว ก็ขอเขียนถึงมันซะหน่อยก็แล้วกัน ผมไม่อยากจะถือว่านี่เป็นการรีวิวนะ ถ้าเรื่องรีวิวมีคนเขียนไว้ดีมากอยู่หลายที่แล้ว สำหรับที่เป็นภาษาไทยก็มีที่ Siampod นะ ที่แนะนำ (เขียนดีมาก) อยากให้อ่านกันดู

สำหรับที่นี่ ผมขอเขียนในลักษณะแชร์ประสบการณ์ก็แล้วกัน

ก่อนอื่น ขอบอก profile ของตัวเองก่อน … จะได้เข้าใจว่าผมมีความคาดหวังอย่างไรกับอุปกรณ์ตัวนี้ และทำไมผมถึงสนใจมัน

ผมเป็นพวกอ่านหนังสือเยอะ แต่ส่วนมากจะหนักไปทางพวก non-fiction, popular science, technical, software philosophy ฯลฯ กับพวกวารสารนิตยสารซะเป็นส่วนมาก นอกจากนั้นก็มีพวกบทความวิชาการ (academic paper) ที่ต้องอ่านอยู่เป็นประจำ เมื่อก่อนไปไหนมาไหนขนหนังสือไปหลายเล่ม จนคนหมั่นไส้ก็มี ว่าขนมาสร้างภาพ –‘ (ซึ่งเป็นเรื่องตลก — บังเอิญที่บ้านเลี้ยงด้วยหนังสือตั้งแต่เด็ก) ในช่วงที่อ่านหนังสือมากที่สุดในชีวิต ผมอ่านหนังสือพวก popular science เฉลี่ยแล้ว 1-2 วัน/เล่มเห็นจะได้ นอกจากนั้นก็จะมีพวกวารสารนิตยสาร พวก Time, Economist, Discovery, National Geographcis และอีกหลายๆ เล่ม ที่รับและซื้อตลอด

ผมมาพบว่า ตัวเองอ่านหนังสือน้อยลงมากในช่วงเวลา 3 ปีหลัง รวมทั้งวารสารด้วย (อ่าน Time ไม่จบทุกเล่มเหมือนที่เคย บางเล่มยังไม่ได้แกะเลย) เพราะสาเหตุหลายอย่าง เช่น

  • ความไม่สะดวกในการพกหนังสือไปหลายๆ เล่มอีกต่อไป
  • หนังสือเล่มที่เราอยากจะอ่าน มักไม่อยู่กับเราเวลาที่เราอยากจะอ่านมันเสมอๆ
  • การพิมพ์ note หรือ quote ลงในคอมพิวเตอร์เป็นอะไรที่ขัดธรรมชาติ (แต่จำเป็นเวลาต้องใช้อ้างอิง) ซึ่งใครเคยมาห้องทำงานผมจะทราบดี ว่าผมมักเดินไปหยิบหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ ที่เคยอ่าน มาชี้ให้ดูประเด็นตรงนั้นตรงนี้เสมอ (เคยมีคนถาม ว่าจำทั้งหมดได้ยังไง … อันนั้นมันเป็นความสามารถของสมองส่วน R-mode)
  • ตัวเองอ่านอะไรในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมี iPhone
  • (ต่อจากข้อที่แล้ว) สิ่งที่ “อ่านได้” มันอยู่ในอินเตอร์เน็ทมากขึ้น และมันเหมาะกับ casual reading มากกว่า มัน bookmark ง่ายกว่า มัน “พกติดตัว” ง่ายกว่า (ก็แค่ต่อเน็ต ก็อ่านต่อได้แล้ว)

เมื่อเอาทั้งหมดมาประกอบร่างกัน จะพบว่าสิ่งที่ผมต้องการคือ “iPod สำหรับตู้หนังสือ” ในรูปแบบเดียวกับที่ iPod ที่ผ่านมา มันเป็นตู้เพลงเคลื่อนที่ทั้งตู้ โดยที่ Requirement พื้นฐานของผม สำหรับ “iPod สำหรับตู้หนังสือ” ที่ว่านี้ก็คือ

  • มี form factor ที่กำลังพอดี ไม่เล็กไม่ใหญ่ไม่หนักเกินไป และมีความสว่างของหน้าจอพอให้อ่านสบาย
  • ลักษณะการใช้งาน มันต้อง intuitive เหมือนกับการอ่านหนังสือจริงๆ ไอ้กดปุ่มเพื่อไปหน้าถัดไป นี่ไม่เอาด้วย
  • มันต้องขนหนังสือไปด้วยได้ทั้งตู้ และต้องอ่านหนังสือได้ทุกรูปแบบที่ผมมี (หมายถึงหนังสือดิจิทัลเท่านั้นนะ)
  • ต้องมีระบบ bookmark และการเขียน note (annotation) ที่ดีพอ และนั่นก็หมายถึงว่าต้องมีคียร์บอร์ดหรือส่วนของ input ที่ดี
  • ต้องทำงานในลักษณะ rich media/content ได้ นั่นคือเล่นภาพและเสียง เนื่องจากหนังสือหลายเล่มที่ผมมี มันเป็นมีเนื้อหาหลักเป็นภาพที่เล่าเรื่อง ไม่ต้องคิดไกล คิดแค่ National Geographics ก็พอแล้ว

และไหนๆ ก็ไหนๆ ในเมื่อโดยพื้นฐานแล้วมันก็ต้องเป็นคอมพิวเตอร์ด้วยอยู่แล้ว (เนื่องจากขนาดมันก็คงไม่เล็กเท่าไหร่ จาก requirement สองข้อแรก) ดังนั้นก็เลยพ่วงพวกนี้เข้ามาหน่อยก็แล้วกัน

  • เอาไว้ทำงานแบบ casual แทนคอมพิวเตอร์ได้บ้าง ไม่ต้องมากหรอก แค่ทำได้ดีกว่า iPhone นิดหน่อยผมก็พอใจแล้ว พวกตอบ e-Mail ดูตารางนัดหมาย ปฏิทิน ที่เหลือก็ต่อเน็ทใช้ web browser ได้ ก็ทำได้เกือบหมดแล้ว (ตราบใดก็ตามที่มี Google Doc) แต่ถ้ามีโปรแกรมเฉพาะทางโน่นนี่ให้หน่อย ก็จะดีไม่น้อย
  • ซื้อหนังสือเพิ่มเติมได้ ไม่งั้นคงเซ็งแย่
  • มีเกมเล่นบ้างตามสมควร

ทำไมผมต้องเล่าอะไรไม่รู้ยืดยาวด้วย แค่รีวิวๆ มันให้จบๆ เรื่องไม่ได้หรือ? อย่างที่บอกล่ะครับ ว่าผมไม่ได้จะรีวิว แต่จะแชร์ประสบการณ์ในฐานะที่เขียนไว้ด้านบน และด้วยความคาดหวังเบื้องต้นอย่างที่เพิ่งบอกไป …. แต่ว่ามันชักจะยาวไปแล้ว ขอเล่าต่อในตอนต่อไป (จะเขียนต่อเลย)

Testing blogging from iPad

Got my iPad days ago and just downloaded WordPress app last night so now I can do some blogging from my iPad. Well, I could just do it through the website but having ability to write something while off-line and post later is what I want.

Still, he iPad has no Thai keyboard (there’s one selling in AppStore right now but seems bad, even absurd) so there is a possibility that I may write more English blog, if posting from it.

What I can see is that it is working so fine so far. Will write full review sometime later when I feel I have played with it enough and get used to it enough. Oh, one more thing, the keyboard is very nice and I can easily get 45 WPM or more on this iPad. I could type on this a bit faster than I did on my (stolen) Acer netbook.

Between Red and Yellow


Between Yellow and Red

Nikon D3s, 24-70/2.8N, 56mm, f/8, 1/200s, ISO 320. (click for bigger size)

เป็นภาพจากทริปไปตลาดน้ำอัมพวา ระหว่างที่ผมกำลังเดินเล่นอย่างสบายใจ และถ่ายรูปบ้างตามสนุกนั้น สายตาผมก็สังเกตเห็นภาพนี้

สิ่งที่ผมเห็น ทำให้ผมสลดใจมากทีเดียว ซึ่งผมเข้าใจนะ ว่าภาพนี้เค้าไม่ได้จัดฉากหรือว่าจัดอะไรให้ผมคิดแบบนี้หรอก แต่ว่าผมเห็น “หมวก” สองใบคนละสีกัน ใบหนึ่งสีเหลือง ใบหนึ่งสีแดง ขนาบ “ธงชาติไทย” ที่ยับ บิดเบี้ยว อยู่ตรงกลาง

“หมวก” สิ่งที่เราใช้แทนบทบาทหน้าที่ (เช่น วันนี้ผมใส่หมวกผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์ หรือว่าวันนี้ผมจะต้องถอดหมวกความเป็นอาจารย์จากศิลปากร เป็นต้น) ที่เราอาจมีเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ทำงานอะไรบางอย่างในบางบทบาท และเมื่อเราเอาหมวกครอบหัวเอาไว้ บางทีเราจะถูกความคิด ทัศนคติ ที่มากับบทบาทนั้น ครอบหัว ครอบความคิด ครอบงำ ฯลฯ จนบางทีเราอาจจะถอดมันไม่ออกอีกแล้วก็เป็นได้

“ธงชาติ” ก็เป็นสัญลักษณ์ของชาติ ชาติใครก็ชาติมัน ความหมายดีทั้งนั้นกับแต่ละองค์ประกอบดีทั้งนั้นที่เราใส่ลงไปในธงชาติ

อยากให้สังเกตนิดหน่อย … ลองดูสิครับ ว่า “หมวก” มันสีอะไร? (จริงๆ ก็เขียนตั้งแต่ต้น) และภาพนี้ทำให้ท่านคิดอะไร เห็นอะไร สะท้อนใจอะไร

ผมกำลังคิดว่า เราใส่หมวกสีอะไรกันทุกวันนี้ และทำหน้าที่อะไรกันอยู่กันแน่ ……. และมีใครสนใจสิ่งที่อยู่ตรงกลางกันบ้างไหม? หรือว่าแค่ทิ้งมันไว้อย่างนั้น และใส่หมวกกันต่อไป

บางทีถึงเวลาถอดหมวกกันให้หมด และคิดในฐานะที่เป็นตัวตนของเราเองจริงๆ นั่นคือ “คนไทย” หรือยัง?

Imagination


Imagination

Nikon D3s, 24-70/2.8N, 24mm, f/2.8, 1/100s, ISO 9000. (click for bigger size)

“จินตนาการของเด็ก” นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์มากๆ ลองดูจากที่เห็นในรูปนี่สิ ว่าเราเห็นอะไรบ้าง เราอาจจะเห็นดวงอาทิตย์ เห็นผีเสื้อ เห็นสีสันต่างๆ แต่ที่ผมเห็นมากขึ้นก็คือ เด็กสามารถเขียนให้ทุกอย่างอยู่รวมกันได้ โดยไม่มีการแบ่งแยกว่าอะไรคืออะไร

เด็กเกิดมาเพื่อสันติภาพ ผมเชื่อเช่นนั้น เด็กเป็นมิตรกันได้เร็วโดยไม่ตั้งกำแพงมากมาย เด็กไม่ถือโทษโกรธกัน ยิ้มให้กันก็หาย และยิ้มกันง่ายเหลือเกิน

แต่เมื่อเราโตขึ้น เราเรียนรู้มากเกินไปหรือเปล่า แบ่งแยกมากเกินไปหรือเปล่า ว่า “อะไรเป็นอะไร” จริงอยู่ มันเป็นเรื่องสำคัญ แต่ทำไมเราต้องมองหาแต่สิ่งที่มันต่างกัน มากกว่าหาสิ่งที่เหมือนกันหรือหาสิ่งที่อยู่ด้วยกันได้ บางอย่างมันไม่มีอะไรเกินจินตนาการของเราหรอก หากเราจะจับมันมารวมกัน และไม่แบ่งแยกมัน

ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมากที่เรามักจะเห็นว่า “ความรู้สึกแบบเด็กๆ” นี้มันสูญหายไปตามอายุเมื่อเด็กโตขึ้น ด้วยสาเหตุหลายๆ อย่าง

แทนที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ จะมัวแต่สอนเด็กให้เป็นอย่างตัวเอง … แล้วโตขึ้นมาก็จะก่อแต่ปัญหาแบบที่พวกเราๆ ก่อเอาไว้ทุกวันๆ นี่แหละ …. ลองมองและเรียนรู้สิ่งดีๆ จากเด็กบ้างจะเป็นไรไป … หรืออย่างน้อยๆ ให้เด็กรักษาจินตนาการของเค้าเอาไว้ให้ได้ อย่าไปทำลายเค้าให้เค้าคิดแบบเรา แต่ให้เค้า “มีจินตนาการอย่างมีประสบการณ์” มากขึ้น จะเป็นไปได้ไหม

ป.ล. ขอบคุณพี่ พี่รูฟ (@roofimon) ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ในการถ่ายทำนะครับ นี่รูปจินตกรรมฝาผนังใต้บันไดบ้านพี่เค้า โดยผลงาน “น้องณมน” ลูกสาวพี่รูฟ ครับผม ;-)

Eye Contact


Eye Contact

Leica M8, Voigtlander 50/1.1 Nokton, f/8, 1/90s, ISO 160. (click for bigger size)

ตลาดน้ำอัมพวา เป็นที่หนึ่งที่ถ่ายรูปสนุกครับ และถ่ายรูปได้อย่างไม่เคอะเขิน เพราะว่าหลายต่อหลายคนพกกล้องไปถ่ายรูปทั้งนั้น ถ้าอยากจะหัดถ่ายรูป street หรือว่าตลาด แต่ไม่กล้าลองกับตลาดแถวบ้านตัวเอง ผมแนะนำว่าไปฝึกวิชาแถวตลาดน้ำที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเลยครับ รับรองว่าวิชาแก่กล้าขึ้นแน่ๆ

กลับมาที่รูปนี้ รูปนี้ผมอยู่บนสะพาน แล้วก็เล็งลงมาที่ชีวิตหลากหลายริมน้ำ ซึ่งมีทั้งกำลังจับจ่ายซื้อของ ประกอบอาหาร นั่งรออาหาร และกำลังรับประทานกันอย่างมีความสุข ผมเล็งรูปนี้อยู่ประมาณเกือบครึ่งนาที หวังว่าจะมีใครสักคนในกลุ่มนี้ที่จะเงยหน้าขึ้นมาให้มี Eye-contact บ้าง และแล้วก็มีหญิงสาวนักท่องเที่ยวที่เห็นในรูปนี้แหละครับ เงยหน้าขึ้นมา ก็เลยกดชัตเตอร์ ณ บัดดนั้น ซึ่งสายตาคู่นั้น ก็เป็น Eye-contact เดียวของรูปนี้

ผม post-process รูปนี้นิดหน่อยครับ คือ crop ให้ Eye-contact ที่ว่านี่ อยู่ตรงจุดตัด 9 ช่องพอดิบพอดี และใช้ Creative – Aged Photo preset ใน Lightroom 2 แล้วก็ปรับๆ ดึงๆ ตบๆ ค่าต่างๆ อีกเล็กน้อย

เป็นภาพที่ผมชอบมากๆ และแสดงข้อดีมากๆ อย่างหนึ่งของกล้อง Rangefinder แบบ Leica เพราะว่า viewfinder มันไม่มี black-out ในจังหวะที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือ “จังหวะที่กดชัตเตอร์” ครับ ทริปนั้นผมเอาไปทั้ง D3s และ M8 และสารภาพเลยครับ ว่าชอบภาพจาก M8 มากกว่ามากๆ (ทั้งๆ ที่ปกติจะรู้สึกกลับกัน)

Panasonic GF1: RAW vs. JPEG

ค้างเรื่องนี้มานานแล้วเหมือนกัน เขียนซะหน่อย (ช่วงนี้กำลังทำให้ blog นี้กลับมามีชีวิต และเปลี่ยนมันเป็น Photographer’s blog อยู่)

อย่างที่เขียนไว้ในบทความก่อนหน้านี้เรื่อง RAW vs JPEG น่ะแหละครับ ว่าปกติผมเป็นคนที่ถ่าย JPEG เป็นหลัก ยกเว้นแต่ 1. จะถ่ายมาเพื่อใช้ประโยชน์จาก RAW จริงๆ หรือไม่ก็ 2. รับ JPEG ที่ออกจากกล้องมาไม่ได้ เท่านั้น เลยเป็นประเด็นของบทความนี้ครับ มาดูกันจะๆ เลยดีกว่า ว่าทำไมผมรับ JPEG ของ Panasonic GF1 (ซึ่งเป็นกล้องสุดที่รักเลยนะตอนนี้) ไม่ได้

จริงๆ ก็สั้นๆ แหละครับ คือมัน “Over-processed” มากไป ค่อนข้างมีความเพี้ยนของอะไรหลายๆ อย่างสูงพอควร คือ กล้องมันคิดแทนเรามากไป ว่าอะไรควรจะสวยไม่สวยยังไง ซึ่งจริงอยู่ บางทีมันก็ work แต่ว่าหลายครั้งมันก็ไม่ค่อยจะได้เรื่องเท่าไหร่

ดูตัวอย่างนะครับ (Click บนรูปเพื่อดูภาพใหญ่นะครับ; รูปแรก convert จาก RAW ดิบๆ ส่วนรูปหลังเป็น JPEG จากกล้อง)


P1000774.jpg

P1000774-2.jpg

สิ่งที่อยากให้สังเกตเป็นพิเศษ คือ โทนสีและแสงเงาครับ โดยเฉพาะเรื่องของ Skin tone ที่ค่อนข้างจะเพี้ยน และเมื่อเทียบกับข้อมูลดิบจาก RAW แล้วยิ่งเห็นชัดว่า JPEG engine มัน over-processed ค่อนข้างชัดเจน ทั้งๆ ที่ตั้ง mode เป็น standard เอาไว้ ลองดูเทียบกันอีก 2 รูปครับ (เช่นกันครับ รูปแรกจาก RAW)


P1000765.jpg

P1000765-2.jpg

รูปนี้อาจจะชัดกว่าเมื่อกี้นิดหน่อยในบางอย่าง เช่น ความมืดของบริเวณที่อยู่ในที่มืด และสีแดงของป้ายที่อยู่ในที่มืด ซึ่งจริงๆ แล้วสีของ RAW นั้นค่อนข้างจะสวยดีอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกรณีที่สีมัน Over-saturate หรือไม่ก็ Hue เพี้ยน ซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่าทีมที่ทำ JPEG engine ใน Panasonic ต้องมีปัญหาเรื่องสีแหงๆ

เรื่อง JPEG จากกล้องที่ไม่ค่อยสวย ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ของ GF1 นี่ไม่ใช่ผมรู้สึกไปเองคนเดียวนะครับ มีเขียนถึงกันหลายที่ ในหนังสือวารสารหลายเล่ม แล้วก็เว็บไซต์หลายที่ ที่ชอบเทียบ GF1 กับ EP1 ….. ซึ่งว่ากันว่า JPEG จากกล้องของ Olympus นั้นสวยกว่ามาก แต่ผมยังไม่ได้ลองเทียบกันจะๆ ดังนั้นผมเลยขอ No-comment ดีกว่า

แต่มันก็ต้องมีจุดแข็งบ้างล่ะน่า … ใช่ครับ มันมีจริงๆ และเจ๋งมากด้วย เพราะว่าจุดแข็งของ JPEG engine ของ GF1 คือ “ขาวดำ” ครับ …. ใช้แล้วจะลืมอะไรหลายๆ อย่างไปเลย แทบจะใช้ได้เลยจากกล้องไม่ต้องไปทำอะไรกับมันแล้วทั้งนั้น


P1000644.jpg


บทความที่เกี่ยวข้อง

Relaxing at Evening Sea


Relaxing at Evening Sea

Nikon D3, 70-300/4.5-5.6 VR, 102mm, f/4.5, 1/3200s, ISO 200 (click for bigger size)

ทะเลเป็นที่ถ่ายรูปที่เยี่ยมมาก มีรูปให้ถ่ายตลอด มีแทบทุกแนว และถ่ายได้แทบทุกเวลา เรียกว่าไปเวลาไหนก็ถ่ายได้ทั้งนั้น

วันนั้นไปนั่งเล่นตอนเย็นๆ ที่ริมทะเลบางแสน จ.ชลบุรี นั่งเล่นไปเรื่อย ก็ยกกล้องมาถ่ายไปเรื่อยๆ ตั้งแต่บ่ายแก่ๆ จริงๆ ก็กะจะนั่งจนมันเย็นพอ เพราะว่าชายฝั่งทะเลตะวันออกนี่ จะเห็นพระอาทิตย์ตก และคิดว่าน่าจะได้รูปสวยๆ ตอนพระอาทิตย์เกือบตกบ้าง

และแล้วก็ไม่ผิดหวัง จากจุดที่นั่งอยู่ ไปทางที่พระอาทิตย์ตก เห็นชายคนหนึ่ง กำลังยืนสบายอารมณ์อยู่ระหว่างแนวร่ม และดวงอาทิตย์ที่อยู่ได้ตำแหน่งพอดี ตอนนั้นคิดในใจเลยว่าจะได้รูป Silhouette ที่น่าพอใจแน่ๆ ก็เลยวัดแสงฟ้า แล้วก็กดไป ที่มาทำเพิ่มในคอมพิวเตอร์ ก็ปรับให้มันเป็น Silhouette มากขึ้น แค่นั้นเอง

อ่อ รูปนี้เป็นรูปบอกลา Nikon D3 ตัวเก่งที่ใช้มาปีนึงเต็มๆ ด้วยครับ

จริงเหรอ?


จริงเหรอ?

Nikon D3s, 180/2.8, f/3.5, 1/200s, ISO 2000 (click for bigger size)

นานๆ จะได้ถ่ายรูปหลาน (ตอนนี้อายุ 4 เดือน) เล่นสักที จริงๆ ก็ถ่ายไว้เยอะเหมือนกันตามประสาคนชอบถ่ายรูป แต่ว่าชอบรูปนี้เป็นพิเศษ ทำไมน่ะเหรอ

ก็มันให้ sense of wonder ซึ่งเป็น expression หนึ่งของเด็กที่ผมชอบนะ เด็กๆ นี่เห็นอะไรก็ตื่นตาตื่นใจไปหมด สนุกไปหมด จะว่าไปแล้วจริงๆ ผมใช้รูปนี้หากินใน presentation ได้อีกนานโขเลยนะเนี่ย เป็นรูปที่ให้ expression ว่า “จริงเหรอ” ได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว ลองคิดดูสิ ว่าเวลาพูดถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้เรื่อยเปื่อย แล้วกดเปลี่ยน slide มาเป็นรูปนี้ แล้วบอกว่า “ไอ้ที่พูดมาทั้งหมดนี่น่ะ มันจริงเหรอ?” หรือว่าใช้ก่อนจะนำเสนอก็ได้ ว่า “มันจะทำได้ยังไงอ่ะ” ก็คงเข้ากันได้ดีพอสมควร