ครั้งหนึ่งเคยเขียนเรื่องทำนองนี้มาแล้วหลายครั้ง เช่น
- ปัญหา ความเคยชิน “ก๊อปโค้ดมาแก้” (17/01/2009)
- ปัญหา ความเคยชิน “ก๊อปโค้ดมาแก้ #2” (02/02/2009)
วันนี้ กว่า 2 ปีผ่านไปจาก entry เหล่านั้น คงจะได้เวลาที่ผมจะกลับมาเขียนถึงมันอีกสักครั้งหนึ่ง ด้วยวัยที่อาจจะเปลี่ยนไป ด้วยมุมอะไรบางอย่างที่อาจจะมองได้กว้างขึ้นหรืออาจจะแคบลง ซึ่งจริงๆ แล้วผมเองได้บ่นเรื่องพวกนี้ไว้เป็นระยะๆ ใน Twitter ที่สุดท้ายก็ไม่ได้กลายเป็นบทความอะไรที่ยั่งยืนหรือว่าอ้างอิงได้ในภายหลัง ถึงจะมีคนรวบรวมเอาไว้เป็นระยะๆ ก็ตาม
ณ วันนี้ ผมกำลังจะลาออกจากงานบริหาร กลับมาเขียนโค้ดเต็มตัวอีกครั้ง และทุกวันนี้ ผมพยายามสอนโค้ดมากขึ้น จากการที่ไปสอน iOS SDK Development ตามที่ต่างๆ มากมาย ผมพบความจริงที่น่าเศร้าใจมากขึ้น และเป็นการย้ำหัวตะปูกับเรื่องเดิมๆ มากขึ้น
น้องๆ ที่กำลังศึกษาในสาขาวิชาที่ต้องเขียนโปรแกรม ที่ต้องโค้ด คิดคอนเซปท์ของโปรแกรมน้อยลงมาก และ เขียนโปรแกรมน้อยลงมาก ซึ่งส่งผลให้เมื่อเจอปัญหาแล้วตั้งเป้าหมายและแก้ปัญหาไม่เป็น รวมถึงมือไม่ขยับในการเขียนโค้ดให้เลย
ปัญหานี้ไม่ได้มีแต่สาขาที่ต้องเขียนโปรแกรมแน่นอน เนื่องจากอาจจะเป็นปัญหาฝังลึกในระบบการศึกษาของบ้านเรา ที่เน้นการได้คำตอบอย่างฉาบฉวยมาตั้งแต่ไหนแต่ไร และมากขึ้นๆ เวลามีการบ้าน ก็ไม่ได้ทำเอง แต่ต้องมี “คนสอนการบ้าน” ตลอดเวลา และมากขึ้นๆ รวมถึงหนังสือสารพัดกุญแจ ที่บรรจุคำตอบทุกอย่างที่อยากรู้เอาไว้
นักเรียน นิสิต นักศึกษา และคนจำนวนมากที่เป็น “ผลผลิตที่สมบูรณ์ ของระบบการศึกษาที่ล้มเหลว” นี้ จึงติดนิสัยฉาบฉวยนั้นมาอย่างฝังรากลึก ถอนตัวไม่ออก ดัดไม่ค่อยได้ ผลที่ตามมานั้นน่ากลัวนัก
- เวลาอยากได้อะไรก็จะอยากได้ผลนั้นๆ อย่างเร่งด่วน ไม่สนใจวิธีการที่จะได้ผลนั้น ค่อยๆ ทำอะไรทีละขั้นทีละตอนไม่เป็น
- วิธีการให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการนั้น จะเป็นลักษณะ “สำเร็จรูป” มากขึ้นๆ นั่นคือ มันเหมือนเป็นความคิดในระดับจิตใต้สำนึกไปแล้ว ว่ามันจะต้องมีคนทำเอาไว้เราไปหามาใช้ได้อย่างใจเราเป๊ะๆ แบบสำเร็จรูป ไม่ต้องทำอะไรเลย ถ้าเป็นโค้ดก็ “copy-paste ปุ๊บ ต้องได้ปั๊บ” เป็นต้น
- สังเกตได้ไม่ยาก เวลาสั่งงานอะไรก็ตาม น้องๆ จะใช้เวลาส่วนมากหมดไปกับ “การพยายามหาสิ่งที่เหมือนที่ต้องการเปี๊ยบ ใน Google ถ้าไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ ก็หาต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีจบสิ้น”
- ซึ่งนั่นเป็นปัญหา ทำให้เราทำอะไรที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าระดับพื้นฐานไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่ซับซ้อนมากขึ้นนั้น โอกาสที่จะมีคนทำเอาไว้ให้เราเอาไปใช้ได้แบบเป๊ะๆ นั้น น้อยมาก ต้องเอามาปรับปรุง ดัดแปลง หรือนำเข้ามาใช้ร่วมกับส่วนอื่นๆ ของคำตอบเราอยู่ดี
- ไม่สนใจพื้นฐาน คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น บางคนอยู่ในสภาวะ “ดูถูกพื้นฐาน” เสียด้วยซ้ำไป สนใจแต่ “ขั้นตอนสุดท้าย” เท่านั้น หลักคิดอะไรก่อนหน้านั้นเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไร ก็ช่างมัน จะเร่งรัดผ่านไปให้หมด
- ทีนี้เมื่อสร้างอะไรเองทีละขั้นทีละตอนไม่เป็น ก็เป็น “ผู้สร้าง” หรือ “ผู้สร้างสรรค์” ยาก
- แต่ว่าจะมีความเป็น “ผู้เสพ” หรือ “ผู้บริโภค” สูงขึ้นเรื่อยๆ มีความต้องการ มีอาการเหมือนผู้บริโภค นั่นคือ “ถ้าสิ่งที่อยากได้นั้น ไม่มีคนทำไว้ ก็เป็นความผิดผู้ผลิต/ผู้สร้าง” ดังจะเห็นได้ชัดจากคำพูดที่ว่า “ลองไปหาดูแล้ว ไม่มี” “หาใน google ไม่เจอ” ฯลฯ มากขึ้นทุกที
กี่ครั้งแล้วไม่ทราบ ที่ผมเห็นภาพที่น่าเศร้าใจเหล่านี้ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความพยายามที่จะลองผิดลองถูก ความพยายามที่จะคิด หรือความสามารถในการแก้ปัญหาเบื้องต้นในลักษณะของ “ผู้สร้าง” นั้น หายไปสิ้นเชิงจากความระบบความคิดและระบบการศึกษาในปัจจุบันเสียแล้วหรือ
ระบบการศึกษาที่เน้นการลัดไปสู่คำตอบอย่างรวดเร็วเกินไป และการที่อยากได้อะไรต้องมีคนอื่นทำให้ แก้ให้ ไม่มีที่สิ้นสุด ได้สร้างคนที่มีภาวะต้องการที่พึ่งพาสูงขึ้นๆ และเป็นที่พึ่งพาได้น้อยลงเรื่อยๆ
กี่ครั้งกันเล่า ที่เราพบคนที่อยากได้ระบบอะไรก็แล้วแต่ โดยไม่สนใจว่าสร้างมันอย่างไร จะเอาแต่ผล กี่ครั้งกันเล่า ที่คนบ้านเราไปเห็นแต่ผลลัพธ์ที่สำเร็จแล้วในต่างประเทศ ที่ใช้เวลาสร้างนับสิบๆ ปี แต่เราจะก๊อปปีิ้เฉพาะขั้นตอนสุดท้าย และเราก็บอกว่าเรามีแล้วเหมือนกับเขา แต่ว่ามันขาดวิญญาณและความเข้าใจมาอย่างสิ้นเชิง
เราคงจะเป็น “ผู้สร้าง” หรือเป็น “นักแก้ปัญหา” ที่แท้จริงกันยากขึ้นทุกวัน และการ “สร้างสรรค์” หรือ “การแก้ปัญหา” ของเรานั้นอาจหมายถึง “การแสวงหา มาปะผุ” มากขึ้นทุกวัน โดยสิ่งที่เราแสวงหามาได้นั้น เราก็ไม่ได้เข้าใจที่มาที่ไปของมัน เราไม่ได้มีแนวคิดอะไรในหัวเลย ว่าอะไรมันทำงานอย่างไร อะไรได้มาอย่างไร ก็เป็นได้
ตราบใดที่ บ้านเรายังคงสร้างคนที่สนใจแต่ “ข้อนี้จะตอบอะไร” แทนที่จะสนใจว่า “ทำไมถึงมีคำถามนี้” หรือ “จะเริ่มต้นมองปัญหานี้อย่างไร” มันก็คงจะเป็นแบบนี้ไปมากขึ้นๆ