ว่าด้วย iOS 7 “Developer Beta”

[update 29/06] เพิ่มกรณีตัวอย่างของแอพที่เจ๊ง และเพิ่มบทส่งท้ายจากการเขียนเพิ่มเติมของคุณ Prem Sichanugrist ผ่านทาง Facebook


เป็นเรื่องปกติไปแล้ว ว่าก่อนที่ซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งจะออกมาให้ใช้งานได้จริงจังนั้น จะต้องผ่านการทดลองใช้งาน โดยมักจะมี “รุ่นทดลองใช้” หรือที่เราเรียกว่า Beta ออกมาให้ลองใช้งานจริงจังก่อน ซึ่งแน่นอนว่ารุ่นทดลองใช้ จะเป็นอะไรที่ยังมีปัญหาอยู่เยอะ ยังไม่สมบูรณ์ แต่มีความสามารถหลักๆ เพียงพอให้ทดลองใช้แล้ว

แล้วมันมีเรื่องอะไรให้ผมต้องเขียนถึงล่ะครับ ก็ในเมื่อมันเป็นเรื่องปกติ๊ปกติขนาดนั้น?

เรื่องของเรื่องก็คือ เมื่อไม่นานมานี้ Apple ได้ประกาศ iOS รุ่นใหม่ คือ iOS 7 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงแบบล้างบางในเรื่องการออกแบบและการใช้งานหลายๆ อย่าง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ขนาดที่ทาง Apple เองบอกว่า “ใหญ่ที่สุดตั้งแต่ออกไอโฟนมา” เลยทีเดียว และแน่นอนว่าก็เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงทุกครั้ง Apple ก็จะออกรุ่นทดลองใช้มาให้ทดลองใช้ก่อน

แน่นอนว่าการประกาศรุ่นใหม่แบบนี้ และการเน้นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีมา รวมถึงการโชว์ความสามารถต่างๆ กลางเวที WWDC หรือการที่มีคนนั้นคนนี้เขียนถึง … มันย่อมกระตุกต่อมอยากรู้อยากเห็น อยากมีก่อนคนอื่น อยากลองใช้ อยากลองดู อยากเท่ อยาก ฯลฯ อยากสารพัดอยากของหลายๆ คนแน่นอน ก็เลยต้องรีบหามาลองเล่นกัน

ซึ่งผลก็คือเสียงวิจารณ์แบบ “ห่วย” “ใช้แอพหลายตัวแทบไม่ได้เลย” “เปิดตัวนั้นก็แครช เปิดตัวนี้ก็ค้าง” “เครื่องร้อนมาก” “แบตหมดเร็ว” “Apple ห่วยขนาดนี้เลยเหรอ” ฯลฯ … หลายคนพยายามบอกว่าก็มันยังเป็น Beta หรือรุ่นทดลองใช้อยู่ แต่ก็มักจะมีคนแย้งเสมอๆ ว่า “Beta ก็ต้องค่อนข้างสมบูรณ์แล้วนะ ไม่งั้นจะออกมาให้ทดลองใช้ทำไม ต้องการอะไรเหรอ” ทำนองนี้ค่อนข้างจะเยอะ

ก็…. มันไม่ใช่ “Beta” ปกติน่ะสิครับ …..


dev_beta.png

ครับ มันคือ “Developer Beta” ไม่ใช่ Public Beta หรือ Consumer Beta แล้วมันหมายความว่ายังไงล่ะ?

Continue reading

จุดยืน ต้นทุน มูลค่า ซอฟต์แวร์ และ “แอพตู้”

เคยสัญญาว่าจะเขียนภาคต่อของบทความ “ต้นทุน/มูลค่า” ที่แท้จริงของซอฟต์แวร์” ที่เป็นประเด็นต่อเนื่อง แต่ไม่มีเวลาและไฟพอที่จะเขียน แต่พักหลังๆ เนื่องจากตัวเองได้ involve กับการบ่มเพาะและสร้าง Startup Tech Industry ในประเทศไทยค่อนข้างมาก ก็เลยคิดว่าถึงเวลาที่ผมจะต้องเขียนเรื่องนี้ต่อเสียที

จากบทความก่อน ที่ผมลงท้ายว่า

นี่แหละครับ คือ “ต้นทุนที่แท้จริงของซอฟต์แวร์” ที่เราไม่เคยอยากจะจ่ายมัน … มันเป็นอะไรมากกว่าเงินทอง แต่มันเป็นศักยภาพการแข่งขันโดยรวมของประเทศ ที่นับวันยิ่งจะเสียไป … โดยที่เราไม่เคยคิดจะแคร์อะไรกับมันเลยด้วยซ้ำ และยิ่งเหยียบย่ำให้มันแย่ลงทุกวัน ก่อนจะช่วยด้วยปากด้วยการซ้ำเติม ว่าบ้านไหนเมืองไหนเค้าไปถึงไหนกันแล้ว

มันเป็น The price we all have to pay … สิ่งที่พวกเราทุกคนต้องจ่ายด้วยกัน

ที่จริงแล้วผมต้องการจะสื่อถึงอะไรกันแน่หรือสื่อถึงอะไรบ้างเหรอ อะไรคือ “สิ่งที่เราทุกคนต้องจ่าย” แล้วทำไมเราถึงต้องแคร์กับมัน?

ต้องบอกก่อนนะครับว่า ผมไม่ได้สนใจเรื่อง “รายได้ของการขายโปรแกรมให้กับ End User” เป็นหลักด้วยซ้ำไป เมื่อผมเขียนบทความนั้น ดังนั้นประเด็นเรื่อง “การลงแอพตู้ทำลายรายได้ของนักพัฒนาหรือไม่” จึงไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ผมเห็นปัญหาภาพใหญ่กว่านั้น ว่าโดยทัศนคติแล้ว พวกเรา “ตีค่า”​ ซอฟต์แวร์ หรือคอนเทนท์ กันอย่างไร มีมูลค่าเท่าไหร่ เป็นเพียงของแถม เป็นสิ่งที่ไม่มีมูลค่า หรือตรงกันข้าม

เมื่อทัศนคติทางสังคม ยังตีมูลค่าและต้นทุนของ “ซอฟต์แวร์” ต่ำเกินกว่าที่ควรจะเป็น เรื่องที่เกิดขึ้นได้ก็จะมีมากมายอย่าง ส่งผลลบกันทั้งนั้น เช่น

  • เกิดอะไรขึ้นกับเรื่อง Tablet ป.1 ครับ? ต้นทุนเรื่องมูลค่าของโปรแกรมที่จะต้องพัฒนาขึ้นมารองรับอยู่ที่ไหน แล้วเนื้อหาล่ะ ผมเห็นแต่สนใจเรื่องฮาร์ดแวร์กันซะจนไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้เลย แล้วก็นำมาซึ่งการเร่งพัฒนาและการแปลงเนื้อหาอย่างฉาบฉวยไม่ได้คิดหน้าคิดหลังกันเท่าไหร่
  • เกิดอะไรขึ้นกับการพัฒนาระบบฐานข้อมูล การพัฒนาโปรแกรมด้านบริการหลายต่อหลายตัวครับ? เราไม่ได้สนใจเรื่องคุณภาพของข้อมูล คุณภาพเรื่องการใช้งาน ฟังก์ชั่นการทำงาน อะไรกันเลย เราละเลยเรื่องพวกนี้มากมาย เราคิดว่าต้นทุนของซอฟต์แวร์มันมีแค่การเขียนมันขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งมันน้อยกว่าความเป็นจริงมากมาย
  • เกิดอะไรขึ้นกับงานอีกหลายงาน ที่คิดว่าต้นทุนทางการพัฒนาซอฟต์แวร์มันน้อย แล้วเราต้องลงเอยกับระบบห่วยๆ มากมายมหาศาลที่มันมีผลกับชีวิตของพวกเราในระยะสั้นและระยะยาวไม่แพ้อย่างอื่นเลย

Continue reading