ว่าด้วย “ขนาด Sensor” [1]: Crop Factor และผลต่อ DoF & FoV

ไม่ได้เขียนบทความเชิงเทคนิคซะนาน เขียนซะหน่อยก่อนที่มือไม้จะขึ้นสนิม และนี่คงเป็นเรื่องที่ตอบคำถามคาใจของใครหลายต่อหลายคนได้ดีทีเดียว คำถามที่ว่านั้นก็คือ “กล้องตัวคูณ คืออะไร” หรือ “ทำไมคนนั้นใช้เลนส์ 20mm มันเหมือนจะถ่ายรูปได้กว้างกว่าผมใช้เลนส์ 18mm ครับ” และ “ทำไมกล้องตัวเล็กๆ ถึงถ่ายหน้าชัดหลังเบลอไม่ค่อยได้” ตลอดจน “ทำไมกล้องใหญ่ถ่ายที่แสดงน้อยดีกว่ากล้องเล็ก” แม้กระทั่ง “ทำไมไม่ทำเลนส์ 24-200 f/2.8 ขนาดเล็กๆ ใช้กับกล้อง D600/800 จะได้มีตัวเดียวเที่ยวทั่วโลก” และยังมีคำถามอื่นๆ อีกมากมายที่เป็น Variation ของคำถามเหล่านี้

ต้นตอสำคัญ เรื่องของเรื่อง ก็คือ “ขนาดของเซ็นเซอร์มันต่างกัน” ครับ และสำหรับบทความนี้เราจะว่ากันแค่เรื่องของ “ตัวคูณ” หรือ Crop Factor “Depth of Field” (DoF) และ “Field of View (FoV) แค่นั้นครับ ส่วนเรื่องการถ่ายในที่มืดค่อยว่ากันในบทความต่อไป และผมจะพยายามอธิบายโดยใช้ฟิสิกส์ให้น้อยที่สุดนะครับ :D

หลักการพื้นฐานง่ายๆ ที่ไม่เปลี่ยนของการถ่ายภาพก็คือเหมือนกับตาคนครับ แสงสะท้อนจากวัตถุ ผ่านเลนส์ ตกกระทบตัวรับภาพ ซึ่งในกรณีของกล้องก็คือฟิล์มหรือเซ็นเซอร์ ทีนี้ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่า เซ็นเซอร์ดิจิทัลในกล้องทั่วๆ ที่เราใช้ๆ กันอยู่เนี่ย มันดันมีหลายขนาด ถ้าเราเริ่มจากเซ็นเซอร์ขนาดเทียบเท่ากับฟิล์ม 35มม. หรือที่เรียกว่า Full-Frame เป็นหลัก แล้วไล่ขนาด “ลงมา” ถึงที่ใช้กันในกล้องมือถือแล้วล่ะก็ จะได้ประมาณนี้ครับ


sensor_size

ขนาดเซ็นเซอร์ที่ใช้ในกล้องทั่วไป ตั้งแต่ Full Frame (เท่ากับฟิล์ม 35มม.) จนถึงโทรศัพท์มือถือ

อันที่จริงแล้วฟิล์มเองก็มีหลายขนาดครับ ไม่ได้มีแค่ 35มม. แต่ว่าขนาดอื่นๆ เราจะไม่ค่อยคุ้นกันเท่าไหร่ เพราะมันมักจะอยู่ในวงแคบๆ ของคนเล่นจริงจังหรือมืออาชีพ เช่นพวก Medium/Large Format ที่มีขนาดใหญ่กว่า 35มม. เป็นต้น กล้องทั่วๆ ไปที่เรามีโอกาสใช้ ตั้งแต่กล้อง SLR ไปจนถึงกล้องคอมแพค ใช้ฟิล์มขนาดเดียวกันแทบจะทั้งหมด (ฟิล์มแบบที่เราเห็นขายทั่วไปน่ะแหละ) คนใช้กล้อง คนถ่ายรูปทั่วไปก็เลยแทบจะไม่มีประเด็นอะไรเรื่องของ “ขนาดฟิล์ม” แต่กล้องดิจิทัลเดี๋ยวนี้ เรามักจะเจอกับเซ็นเซอร์หลากหลายขนาด และส่วนมากเป็นเซ็นเซอร์ขนาดเล็กทั้งนั้น … ว่าแต่ .. แล้วขนาดเซ็นเซอร์มีผลยังไงบ้างล่ะ

Continue reading