ดาบสองคม

ดาบสองคม คมหนึ่งมันคมเท่าไหร่ อีกคมมันมักจะคมเท่านั้น

แต่เรามักจะเห็นมันคมเดียว ณ เวลาหนึ่ง จนกระทั่งอีกคมหนึ่งมันไปฟาดอะไรซักอย่างของเราเท่านั้นแหละ ที่เราจะเห็นอีกคมหนึ่ง

เทคโนโลยีทุกอย่าง เป็นดาบสองคม
การพัฒนาการทุกอย่าง เป็นดาบสองคม

เข้าทำนอง ยิ่งรัก ก็ยิ่งทุกข์ เมื่อวันหนึ่งที่ความรักนั้นมันกลับมาเป็นดาบอีกคมหนึ่ง

คุณกำลังสัมผัสดาบสองคม ที่คมที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

“อินเทอร์เน็ต”

อินเทอร์เน็ต ให้ Scale ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในแง่ของ Information Economy นั่นคือ ทุกคนแทบจะมี Economy of Scale เทียบเท่ากัน ขาดแต่เพียง Social Networking รองรับเท่านั้น

ดาบสองคมที่ว่านั่น ก็คือ ถ้าทุกคนอยู่ในฐานะของ “สื่อ” ได้แล้วล่ะก็ จะมีกี่คนเล่าที่มีจรรยาบรรณของสื่อ หรือว่าคำถามที่ดีกว่านั้น จะมีกี่คนเล่าที่ใช้มันไปในทางสร้างสรรค์

เราต้องมี Information Literacy ที่ดีขึ้น …..

นอกจากนั้น อินเทอร์เน็ต มันยังเป็นแหล่งเก็บข้อมูลชั้นดี ที่ไม่มีวันล่ม แทบไม่มีวันหาย

ข้อมูลหลายอย่าง ถ้ามันอยู่บนอินเทอร์เน็ตแล้ว มันแทบจะเป็นอดีตที่ไม่มีวันลบวันเลือน ….

เช่น เมื่อไม่กี่ปีก่อน ถ้ามีแฟน แล้วเลิกกัน อยากจะตัดขาดทิ้งทุกอย่าง มันคงจะทำได้ไม่ยาก ก็แค่เอาเผารูป เผาฟิล์ม เผาจดหมาย ก็เท่านั้นเอง ……

แต่ว่าทุกวันนี้ ถ้ามันอยู่บนอินเทอร์เน็ตเสียแล้ว Searchๆ ไป ค้นๆ ไป มันก็ยิ่งเจอไปเรื่อยๆ ทั้งข้อความที่เคยคุยกัน ซึ่งแสดงความสัมพันธุ์ที่เคยมี รวมทั้งภาพโน้นภาพนี้จากวันที่เคยมีกันและกัน และมันอาจจะดูดีกว่าปัจจุบันมากมาย วันดีคืนร้าย ภาพเหล่านั้นของวันที่เคยดี อาจจะกลับมาหลอกหลอนตัวเองหรือคนอื่น ในรูปแบบไหนก็ได้

อืมมม แล้วก็ .. บางคนก็เขียนแต่เรื่องดีๆ ของกันและกัน เรื่องเสียๆ หายๆ ไม่เคยเขียน บางคนกลับกัน เขียนแต่เรื่องเสียๆ หายๆ เรื่องดีๆ ไม่เขียน พอวันหนึ่งที่มันกลายสภาพเป็นเพียงหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ ข้อความทั้งดีและไม่ดี ก็คงส่งผลต่างกัน

ดาบสองคมชัดๆ

เรื่องจริงกับเรื่องที่คนคิด

ว่าจะเขียนเรื่องทำนองนี้มานานแล้ว … เรื่องจริงกับเรื่องที่คนเห็น เรื่องที่คนตีความ หรือว่าที่รู้จักกันว่า Fact กับ Truth เนี่ยแหละ

จริงๆ แล้วพูดยากนะ เพราะว่าคนที่รู้เรื่องจริง ก็คงมีแต่คนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ หรือว่าคนที่ทำให้มันเกิดมาก็เท่านั้น แต่ว่านอกจากนั้นก็คงเห็นได้แค่ผลที่มันเกิดขึ้น ซึ่งมักจะเกิดจากการตีความไปเอง หรือว่าคิดกันไปเอง จากความอคติของคนหรือกลุ่มบุคคลนั้นเอง

ออกตัวไว้ก่อน ในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่ง ผมเองก็ไม่ได้ปราศจากอคติ และไม่คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ตัวเองคิดมันเป็นเรื่องจริง เพียงแต่มันก็เป็นการตีความของเราเอง

เคยเจอเรื่องแบบนี้มาบ่อยครั้ง สิ่งที่เราทำ กับสิ่งที่คนคิดว่าเราทำ มันเป็นคนละเรื่องกัน

พูดไปก็เหมือนๆ กับเกมต่อจุด ที่ไม่มีรูปแน่นอนให้ต่อน่ะแหละ อยากเห็นภาพก็ลองนึกถึง “กลุ่มดาว” บนฟ้าละกัน ดาวมันก็อยู่อย่างนั้น แล้วใครไปต่อเชื่อมกันให้เป็นกลุ่มดาวโน้นนี้ล่ะ? ฝรั่งกับไทยก็ต่อไม่เหมือนกัน แล้วใครถูกใครผิด? ถ้ามีพระเจ้าจริง และพระเจ้าสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาให้มีความหมายจริง ท่านอาจไม่ได้หมายความแบบที่เราต่อกันก็ได้

ว่างั้นเถอะ

เคยเจอเหตุการณ์ประเภทนี้มาแล้ว บางครั้งฟังก็อึ้งไปเหมือนกัน ว่า เออ คนมันก็ตีความกันไปได้แฮะ แต่คงไม่เขียนเล่าให้ฟังแถวนี้ แต่บางเรื่องได้ยินก็ขำเหมือนกัน ขำคนที่คิดและตีความ มากกว่าจะขำคำพูดที่ออกมา (เพราะมักจะขำไม่ออกกับมัน)

ยกตัวอย่างง่ายๆ เยอะแยะไป (เรื่องจริงทั้งหมด เก็บๆ มาจากตัวเอง และบรรดาคนใกล้ตัว แต่ขอสงวนไว้ว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องของใครก็แล้วกัน)

  • บางคนเดินกับพี่น้อง ที่หน้าตาไม่เหมือนกับตัวเอง จะมีคนคิดว่าเดินไปกับแฟนมั้ย?
  • บางคนไปส่งคนรู้จักเป็นบางครั้ง เพราะว่าเป็นห่วง (เพราะพื้นที่แถวนั้นมันเคยเกิดเรื่อง และอีกอย่างเป็นทางผ่านกลับบ้านอยู่แล้ว ไม่ได้ลำบากอะไร) จะถูกตีความไปอย่างอื่นมั้ย? (เช่น พากลับไปนอนด้วย หรือว่าอื่นๆ แล้วแต่อคติส่วนตัว)
  • ถูกชวนไปงานเลี้ยง แต่ว่าก่อนหน้านั้นเพิ่งจะไปซื้อหนังสือมาหลายเล่ม และเอากลับไปเก็บก่อนไม่ได้ (อยู่คนละเมือง) ก็เลยต้องหอบไปด้วย จะถูกมองว่า สร้างภาพ ทำตัวเป็นผู้คงแก่เรียน มั้ย?
  • บังเอิญเจอกับคนรู้จักที่กำลังขนของไปให้น้องคนหนึ่งที่เพิ่งจะมาอยู่ใหม่ เลยเข้าไปช่วย จะถูกมองกลับกันมั้ย ว่ากระเหี้ยนกระหืออยากจะไปเจอน้องคนนั้น เพื่อประโยชน์ในการทำอะไรมิชอบต่อไป มั้ย?
  • ตัดผมเพราะรำคาญ จะมีคนคิดว่าเพราะอกหักมั้ย?
  • ไม่พูดเพราะขี้เกียจพูด เพราะพูดไปเยอะแล้ว (บางทีก็เบา บางทีก็แรง) แต่ไม่เคยได้ประโยชน์ ไม่เคยได้ผล บางเรื่องพูดไปยังไง ก็เงียบกัน ไม่เคยได้ข้อสรุป ถึงจะมีก็ถูกตีความไปอีกแบบ เหนี่อย แต่คนที่ไม่เคยเข้ามาฟังในวันที่พูด จะคิดว่าไม่พูดเพราะอะไร กลัว? มีความลับ? หรือว่าอะไรก็ไม่รู้
  • เลิกกับแฟนเพราะทนความงี่เง่า เจ้าระแวงไม่เป็นเรื่อง ทะเลาะกันไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ไหว จะถูกคิดว่าเพราะว่าไปมีคนอื่นมั้ย?

ทุกเรื่องในนี้ คำตอบคือ “ใช่” มันเคยถูกตีความผิดไปแบบนั้นจริงๆ แต่ว่าเรื่องจริงมันคนละเรื่องกัน

เรื่องเศร้ากว่านั้น เรื่องจริงเร็วๆ นี้ ตอนที่คุณแม่มีอาการโรคหัวใจกำเริบ คุณพ่อไปนั่งรอที่หน้าห้องฉุกเฉิน บอกผมว่า “พ่อรออยู่เนี่ยแหละ เดี๋ยวแม่เห็นแล้วจะเครียดเอา คิดว่าตอนนี้แม่คงไม่อยากเจอพ่อเท่าไหร่” (ก่อนหน้านั้นเพิ่งจะทะเลาะกัน) แต่ว่าพอเข้าไปหาแม่ แม่กลับให้ไปตามพ่อ บอกว่า “ถึงพ่อไม่ชอบหน้าแม่เท่าไหร่ ก็อยากให้เข้ามา เพราะว่าคนเค้ามองมาจะคิดยังไง” ….. สรุปว่า เรื่องจริงของทั้งคู่ กับเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างคิดกับอีกคน ไม่ตรงกัน

ภาพหนึ่งภาพดีกว่าคำพันคำ หลักฐานทางประวัติศาสตร์บางอย่างมีค่ามากกว่าบันทึกทั้งเล่ม ….​แต่ว่ามันก็เป็นเพียงแค่ “จุด” หนึ่งจุดเท่านั้น จุดเหล่านั้นจะเชื่อมโยงกันยังไง ก็แล้วแต่คนที่เห็น คนที่คิดเอาไปตีความน่ะแหละ บางอย่าง ปักใจเชื่อไปแล้วว่าต้องเป็นแบบนั้น เปลี่ยนยาก ก็เหมือนกับประวัติศาสตร์กระแสหลักน่ะแหละ ที่เปลี่ยนยาก

ลองไปดูหนังเรื่อง Timeline ดูครับ เล่นเรื่อง Fact กับ Truth ของประวัติศาสตร์ไว้บ้าง สนุกดี และคิดว่าคงได้ข้อคิดกับเรื่องนี้พอสมควร (ถึงหนังจะได้ rating จาก IMDB ไม่ดีเท่าไหร่ก็เถอะ)

ถ้าภาพหนึ่งภาพดีกว่าคำพันคำ … สิ่งที่แย่กว่านั้นคือภาพหนึ่งภาพบวกกับคำไม่กี่คนนี่แหละ เพราะว่ามันจะเป็นคำไม่กี่คำ ที่ถูกตีความอะไรไปยังไงก็ไม่รู้ ภาพที่เห็น กับคำบรรยายใต้ภาพ ไม่จำเป็นต้องตรงกันนี่ (เห็นตัวอย่างได้ในหนังสือทั่วไป…)

แต่คนที่ไม่รู้อะไร …. มักจะเชื่อและคล้อยตามคำบรรยายใต้ภาพนั้นแฮะ

อ่ะ …. สุดท้ายนะ ตัวอย่างภาพและข้อความใต้ภาพ….​ อันนี้ขอแค่สนุกๆ นะ จริงๆ แล้วเรื่องจริงมันไม่ใช่แบบคำบรรยาย (น้องเค้าเป็นคนดี)

pet2.jpg

วันนั้นมีน้องสองคนเข้ามาให้น้องคนที่ชูสองนิ้วสอนการบ้าน พอเห็นผมจะถ่ายรูป ก็เลยชูสองนิ้วสู้ตาย อันนี้เป็นตัวอย่างห่วยๆ นะ ถ้าอยากเห็นตัวอย่างที่ดีกว่านี้ แบบว่า เดินด้วยกัน หรือว่าอะไรแบบนี้ และให้คนตีความได้เนี่ย บอกมาละกัน มาดูได้ ถ่ายไว้เยอะ

[update 1] คนที่เห็นรูปนี้ และจะไปตีความโน่นนี่ตามใจชอบ นี่ กรุณาอย่าทำเช่นนั้นนะครับ มันไม่มีเรื่องอะไรแบบนั้นจริงๆ เป็นการถามการบ้านจริง และมีหลายคนอยู่ในห้องนั้น (เป็นสิบ) และถ้าคุณทำเช่นนั้น คุณกำลัง “เข้าใจผิด” และสร้าง Truth ของตัวเอง

[update 2] มีอีกเรื่องว่ะ ที่เพิ่งนึกออก … ผมเคยไปนั่งรอแฟนที่ศาลายา ปกติผมจะไว้ผมยาว ไว้เคราด้วย มีครั้งนึงที่ผมตัดผมสั้น และโกนหนวดเครา กลายเป็นมีคนนินทาแฟนซะงั้น ว่าหลายใจ เปลี่ยนแฟนบ่อย สับราง เออดีแฮะ

การใข้ Header Files ของ Standard C++

หมายเหตุ

  • บทความนี้เขียนครั้งแรกใน blog วิชา 517211 Programming Languages และเอามาลงใหม่ที่นี่อีกที
  • บทความนี้เกี่ยวข้องกับ Standard Library Headers ของ C/C++ เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับ Non-standard Library (เช่น conio.h หรือว่า library อื่นๆ ที่ download มาใช้เอง เช่นพวก image processing หรือว่า XML แต่อย่างใด)

ใน C++ (ตั้งแต่ C++98) เนี่ย header มันเปลี่ยนจาก .h เป็นไม่มี .h แทน เช่น iostream.h ก็เป็น iostream นอกจากนี้แล้วยังมีอีกเรื่อง คือ headers ทั้งหลายที่มาจาก C ซึ่งเปลี่ยนจาก .h เป็นใช้ c นำหน้า เช่น stdio.h เป็น cstdio แทน

โดยทุกอย่างที่อยู่ใน C++ standard library นี้จะอยู่ใน namespace ที่ชื่อ std ซึ่ง namespace ก็คือ ที่สำหรับเก็บชื่อ ว่่าชื่อนี้เป็นของอะไร เช่น std::cin คือ cin ที่อยู่ใน std เป็นต้น

ทีนี้ก็เลยกลายเป็นสาเหตุเล็กๆ น้อยๆ ที่เราควรจะสนใจและใช้ header ให้มันถูกต้องเสียที เวลาที่เขียน C++

  • ความเก่าและใหม่ เพราะว่า C++ บาง implementation ยังคงเก็บ .h headers ไว้เพื่อให้ compatible กับ code เก่าเท่านั้น (คือให้ code เก่าที่เคยเขียนมาสมัย pre-standard ยังคง compile ได้เท่านั้น) จะไม่มีการ update ให้ใช้ความสามารถใหม่ๆ ได้แต่อย่างใด

    ลองคิดว่าเป็นอารมณ์เดียวกับที่ Microsoft เลิก update Windows 98 ไปนานแล้ว …. แต่ว่าคุณยังเก็บ Win98 อยู่ เพราะว่ายังมีบางโปรแกรมที่ยังคงใช้มันอยู่ และใช้บน XP ไม่ได้น่ะแหละ

  • namespace พูดเป็นเล่นครับ นี่เรื่องใหญ่กว่าที่หลายๆ คนคิด ใครที่เคยเขียน C/C++ จะเข้าใจดี เรื่องความซ้ำกันของชื่อฟังค์ชัน หรือว่าชื่อ constant ต่างๆ เป็นปัญหาหลัก เนื่องจากว่ามันมีซ้ำไม่ได้เด็ดขาด (ห้ามประกาศซ้ำ ในหนึ่งโปรแกรม) สมมติว่าผมใช้ library บางตัว และมี function ที่ชื่อซ้ำกับ standard library หรือว่าซ้ำกันเองระหว่าง library อื่นๆ นี่จบกันเลย ต้องแก้โน่นแก้นี่เยอะมาก

    ทีนี้เป็นเรื่องครับ เพราะว่า standard library ของ C++ นั้นค่อนข้างจะใหญ่พอควร และมีชื่อที่ค่อนข้างโหลอยู่มากมาย เช่น vector (ใน header ชื่อ vector) หรือว่า max, find, count (ใน algorithm) เป็นต้น การที่พวกนี้อยู่ใน namespace std จะช่วยป้องกันปัญหาชื่อซ้ำกันได้บ้าง (เยอะเลยแหละ) เพราะว่าปกติชื่อมันจะไม่ซ้ำกันข้าม namespace

    ปัญหานี้มันก็อารมณ์เดียวกับคนชื่อซ้ำๆ กันในคณะ (เช่น ชื่อ ฝน หรือว่า เมย์ … ชื่ออะไรดีที่มีเยอะๆ?) แต่ว่าถ้าบอกว่า ฝน เอกคอมพ์ นี่คงจะน้อยลงไปเยอะเลย (โอกาสซ้ำกันก็ยังพอมีอยู่ แต่ว่าสำหรับ std namespace แล้วการันตีว่าไม่มีการซ้ำภายใน namespace เดียวกัน) .. งั้นการบอกว่า std::max ก็เหมือนกับบอกว่า เอกคอมพ์::ฝน น่ะแหละ … แต่ว่าถ้าชื่อไม่ค่อยจะโหล เช่น เอิง อะไรแบบนี้ก็แล้วไป (ถ้าเป็น C++ ก็คงจะพวก bind2nd อะไรทำนองล่ะมั้ง)

  • เรื่องความเข้ากันได้ของ C และ C++ เอง …. เรื่องนี้ไม่น่ามีล่ะครับ แต่ว่าก็ว่าไม่ได้ เพราะว่าไม่มีใครกำหนดไว้ชัดเจน แต่ว่าเนื่องจาก C และ C++ เอง นับวันก็ยิ่งจะแตกต่างกันในเรื่องของรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มากขึ้นๆ เรื่อยๆ ถ้าเราใช้ .h library เมื่อไหร่ นั่นหมายถึงเราอาจจะใช้ library ของ C อย่างไม่รู้ตัวครับ นั่นแปลว่า ถึงเราจะแม่น devils in details ของ C++ มากแค่ไหน แต่ว่าถ้าเราใช้ของ C โดยที่เราคิดว่าใช้ของ C++ อยู่ล่ะ? ….. เราจะเจอปัญหาเล็กน้อยพอควรทีเดียว และเราจะไม่คิดด้วย ว่ามันเป็นปัญหาที่จุดนี้

    เรียกว่าถ้าเราจะใช้ C ก็ใช้ .h ให้ชัดเจน แต่ว่าถ้าจะใช้ C++ ก็เอา .h ออก และใช้ c ขึ้นหน้า (เช่น cstdio, cstdlib, cstring, cctype เป็นต้น)

    อ่อ ….​ และถึงตรงนี้เลยฝากไว้นิดเลยละกัน ว่า string.h ของ C (ที่มีพวก strlen) มันจะกลายเป็น cstring ใน C++ นะครับ ถ้า string ของ C++ จะเป็นอีกตัวนึง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันเลย

คงเป็นความรู้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกใช้ header สำหรับการเขียน C/C++ ได้บ้างครับ

History of the Internet & the Web

เทอมนี้สอนวิชา Programming on the World Wide Web และคิดจะใช้วิธี collaborative knowledge development กับวิชานี้ (และอาจจะวิชาอื่นๆ ที่สอนในเทอมนี้ด้วย) ก็คือ ผมจะรวบรวมบทความหรือว่าเร่ืองน่าสนใจต่างๆ มาเป็น reading list และนักศึกษาจะต้องเข้าไปอ่าน​ (ไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งหมด) และต้องมีความคิดอะไรบางอย่างกับสิ่งที่ตัวเองอ่านไป ว่าให้ข้อคิดอะไรบ้าง ส่งให้เกิดผลอย่างไรบ้าง หรือว่าทำให้เข้าใจโลกที่เป็นอยู่อย่างไรบ้าง และนักศึกษาจะต้องเขียนเป็นบทความสั้นๆ แล้ว submit กลับเข้าไปในระบบ โดยที่ผมจะเป็น editor ให้ เพื่อคัดเลือกบทความที่ดี (interesting, insightful ตามภาษา slashdot) ให้อยู่ในระบบ และการนับคะแนนจะนับตาม contribution ในการร่วมกันสร้าง knowledge

สำหรับ reading list แรกของวิขานี้ คือเรื่องเชิงประวัติศาสตร์ นั่นคือ history of internet & the web ซึ่งผมเห็นว่าจริงๆ ก็น่าสนใจดี ก็เลยเอามา post ไว้ที่นี่อีกที่หนึ่ง

517312 Programming on the World Wide Web: Reading: History of Internet & the Web

ซึ่งก็คงต้องขออภัยอย่างสูงด้วยอีกเรื่องหนึ่งคือ ใน website นั้น ไม่ให้คนนอกสมัครเข้ามาเขียน content ได้แต่อย่างใด (เนื่องจากกำลังอยู่ในระหว่างการทดลอง model นี้ในการศึกษา)

How to Become A Hacker

บทความที่ดีมาก….

ผมอ่านเรื่องนี้นานมากแล้ว ตั้งแต่เรียนปริญญาตรีได้มั้ง และเป็นหนึ่งในบทความในหัวใจเลย ต่อมาก็กลายเป็น source of inspiration หนึ่งที่ทำให้ผมเขียนบทความ (ที่ยังเก็บต้นฉบับไว้อยู่ แต่ว่าขี้เกียจรื้อ) เรื่อง Hackers: Their True Stories

Hacker คือ ฮีโร่ของผมมาตลอด แต่ว่าคำๆ นี้ ในสายตาของ public แล้ว พวกที่ถูกเรียกว่า Hacker หรือว่าพวกที่สื่อต่างๆ และหลายๆ คนเรียกว่า Hacker คือคนไม่ดี ที่คอยทำลายระบบต่างๆ รื้อข้อมูล ทำลายข้อมูล เอาข้อมูลที่ไม่ได้รับอนุญาตไปใช้ในทางไม่ดี หรือแม้แต่อะไรที่เบาและแรงกว่านั้น​ (ตั้งแต่แงะซอฟต์แวร์ไปเรื่อย ถึงสร้างความเสียหายระดับชาติ)

ผมจะไม่พูดถึง Hacker ที่แท้จริง หรือว่าความหมายดั้งเดิมของมันในนี้หรอก เพราะว่ามันควรจะเป็นบทความยาวๆ ได้อีกครั้งเลยมากกว่า แต่ว่าผมอยากจะบอกอีกครั้ง ว่า ความเจริญหลายอย่างในโลกเทคโนโลยี โลกคอมพิวเตอร์ ได้มาจากน้ำพักน้ำแรง สมองและสองมือ หรือมากกว่านั้น ของบรรดา Hackers … จริงๆ แล้วเราเป็นหนี้พวกเขาพอสมควร

บทความของ ESR นั้น ถ้าอ่านดีๆ และปฏิบัติตามได้จริงๆ คุณอาจจะกลายเป็น Hacker ก็ได้ ใครจะไปรู้ ….

ส่วน Hacker คืออะไรกันแน่? ถ้าอยากจะรู้คำตอบ ก็ลองเริ่มอ่านบทความนั้นดู แล้วอ่านไปอ่านมาคุณจะพบคำตอบเอง ..​ อ๊ะๆ อย่าบอกว่ามันเป็นภาษาอังกฤษเลยไม่อ่านนะ ถ้าแค่นี้เป็นกำแพงที่คุณไม่อยากข้ามแล้วล่ะก็ คุณคงจะเป็น Hacker ลำบากล่ะครับ

ก่อนที่จะถามผมนะ ว่า แล้วจะเป็นไปทำไมล่ะ ทำไมฉันถึงต้องเป็นด้วย …. ก็ลองถามตัวเองดูก่อนนะครับ ว่าอ่านชื่อบทความ อ่านที่ผมเขียนมาแล้ว สนใจมั้ยล่ะ ถ้าไม่สนใจ ก็คงจะปกติที่คุณจะถามเช่นนั้น แต่ว่าถ้าสนใจ ก็จะรอช้าอยู่ทำไม (ใบ้นิด: มีคนแปลเป็นไทยไว้ด้วย แต่ว่าไม่แน่ใจว่า revision มีคนแปลหรือยัง…)

Blog คือ?

พอดีมีคนถามผม ว่า blog คืออะไร แต่ว่ารู้สึกว่าตัวเองจะอธิบายตอนพูดไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ เอาเป็นว่าเขียนให้อ่านอาจจะดีกว่า

คำว่า blog มันมีที่มาจากคำว่า web log หรือว่า log บน web ทีนี้ไอ้คำว่า log เนี่ย มันเหมือนกับพวก data logger คือบันทึกข้อมูล บันทึกข้อความ อะไรก็แล้วแต่ที่เราอยากจะบันทึก คล้ายๆ diary น่ะแหละ แต่ว่าแทนที่จะเขียนมันลงกระดาษ หรือว่าลงโปรแกรม word แล้วเก็บเป็นไฟล์ไว้ ก็เขียนมันลง web ซะ

ทีนี้เนื่องจากว่ามันเป็น personal log เนี่ย เราก็เลยเขียนอะไรก็ได้ที่มัน matter กับเรา อาจจะเป็นเรื่องราวในชีวิตประจำวันที่เราอยากจะให้เพื่อนอ่าน หรือว่าแชร์สารทุกข์สุกดิบ หรือว่าเป็นที่เขียนบทความสั้น เขียนความคิดความอ่าน ประสบการณ์ต่างๆ

ซึ่งไปๆ มาๆ มันก็เริ่มดึงดูดคนที่สนใจ ที่มีประสบการณ์เหมือนกัน มีความคิดคล้ายกัน สนใจเรื่องเดียวกัน ให้เข้ามาอ่านได้ ให้เข้ามาทำความรู้จักกันได้ เริ่มเชื่อมโยงกันไปเชื่อมโยงกันมา ก็เริ่มกลายไปเป็น social networking (เครืิอข่ายของสังคม) แบบง่ายๆ

เรื่องน่าสนุกอยู่ตรงนี้ ถ้าเราเอาคำว่า web log มาเขียนติดกัน จะได้คำว่า weblog แล้วตัดคำเสียใหม่ จะได้คำว่า we blog ซึ่ง we ในที่นี้แปลว่า “พวกเรา” และ blog ก็เหมือนจะกลายเป็นคำกริยา (เหมือนกับ we write, we walk, we talk, we do) โดยที่คำนี้จะมีความหมายสื่อถึงการกระทำที่ผมเพิ่งจะเขียนถึงไปเมื่อย่อหน้าสองย่อหน้าก่อนเนี่ยแหละ

ดังนั้น เวลาคนถามกันว่า “มี blog หรือเปล่า” ก็จะหมายถึงว่า เรามีพื้นที่สำหรับเขียนความคิด เขียนประสบการณ์ แบ่งปันความรู้ ความเข้าใจ ทั้งถูกและผิด อะไรก็ตามที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวเราเอง อยู่ในโลก cyberspace หรือเปล่า และนอกจากนี้ เราเป็นส่วนหนึ่งของ social network ขนาดใหญ่ ที่ไม่มีขอบเขตพรมแดน ไม่มีแบ่งแยกประเทศ ไม่มีหมวก ไม่มีหน้ากาก หรือเปล่า

และเวลาที่เราบอกใครว่า “ผมมี blog” ก็จะหมายถึงว่า เรามีสิ่งเหล่านั้น นั่นเอง

ปล.จริงๆ เรื่องของ blog มีมากกว่านี้เยอะ ลองดู http://en.wikipedia.org/wiki/Blog นะครับ ส่วนเรื่องที่ตัดคำใหม่ ให้ได้คำว่า we blog น่ะ อันนี้ถึงผมจะคิดเอง มั่วเอาเอง แต่ว่าอาจจะมีอีกหลายคนคิดเหมือนกัน และชอบเหมือนกันก็ได้ .. โดยส่วนตัวผมคิดว่ามันเป็น definition ของพฤติกรรมสังคมในยุค social networking content ที่ดีนะ…

Perception of Time

กระแสของกาลเวลาไหลเร็วแค่ไหนนะ?

“1 วินาที ต่อ 1 วินาที” อาจจะเป็นคำตอบหนึ่ง

แต่ว่านั่นแหละ “1 วินาที” ที่ว่าเนี่ย มันยาวแค่ไหนกันนะ? และทุกวินาทีมันยาวเท่ากันหรือเปล่า? ผมคงจะไม่พูดถึงกาลเวลาจากทฤษฎีสัมพันธภาพหรอกนะ อันนั้นอาจจะไม่ค่อยเข้าประเด็นเท่าไหร่ แต่ว่ากาลเวลามันมีอะไรแปลกๆ หลายๆ อย่าง นาฬิกา มันจับเวลาได้ยาว 1 วินาทีเท่ากันจริง แต่ว่าความรู้สึกคนล่ะ กับแต่ละ 1 วินาทีที่มันผ่านไปเนี่ย มันเป็นยังไงกันนะ

เคยไหมล่ะ เวลาที่ทำอะไรที่ชอบๆ เนี่ย เวลามันผ่านไปเร็วยังกะติดจรวด แต่ว่าเวลาที่ต้องเจออะไรที่ไม่ชอบเนี่ย กว่าเข็มวินาทีมันจะกระดิกแต่ละที รอกันเมื่อย บางทีจะเป็นเพราะว่าถ้าเราอยู่กับสิ่งที่เราชอบ เราจะไม่รับรู้การมีอยู่ของกาลเวลา (พูดง่ายๆ ว่า “ลืมมันอย่างแท้จริง”) หรือเปล่านะ แล้วในทางกลับกัน เวลาที่เราอยู่กับสิ่งที่เราไม่ชอบ เราเลยจับจ้องกาลเวลาแทน ก็เลยทำให้จิตเราอยู่กับมันหรือเปล่านะ เลยเห็นเหมือนกับว่ามันเปลี่ยนช้าเหลือเกิน

ใช่สินะ บางทีเรา focus กับอะไรมากไปหรือเปล่า เลยเห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงช้าหรือว่าแทบไม่เปลี่ยนเลย? ทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่บ้าง อะไรๆ ที่เราอยากจะให้มันเป็น มันจะเป็นเร็วขึ้นหรือเปล่านะ? เด็กบางคนเจอหน้ากันอยู่ทุกวัน เออ มันก็เหมือนๆ เดิม แต่ว่าพอไม่ได้เจอกันไม่นานกลับมาเจอกันอีกที เออ โตขึ้นเยอะนี่ หรือว่าอะไรทำนองนี้มั้ง

ทำไมกันนะ

เวลาที่ผ่านไปในอดีต กับ เวลาที่รอเราอยู่ข้างหน้า มันผ่านเร็วเท่ากันหรือเปล่านะ ก็แปลกดี เวลาที่เรามองไปข้างหน้าในอนาคต ที่เราคิดว่าอีกหลายปีเราจะตาย หรือว่ายังคงมีอีกหลายปีให้เราใช้ชีวิตกับใครบางคน กับอะไรบางอย่าง ….. 20-30 ปีที่เหลืออยู่ (ถ้าผมตายที่อายุ ~60 ปี) มันจะนานขนาดไหนนะ

และแล้ว … ภาพความทรงจำทั้งหมดในชีวิตก็แล่นผ่านตา …. ชีวิตเราผ่านมาเกือบ 30 ปีแล้วหรือ พอเรามองย้อนกลับไป มันกลับดูเหมือนกับพริบตาเดียวเท่านั้นเองไม่ใช่หรือไง ทั้งความสุข ความเศร้า ความเหงา ความทุกข์ ดีใจ เสียใจ ที่ผ่านไปทั้งหมด มันกลับดูเหมือนกับถูก compressed ไว้ให้วิ่งผ่านความทรงจำได้ในเวลาไม่กี่เสี้ยววินาทีเอง

ถ้างั้น … เวลาที่เราคิดว่า ยังมีเหลืออยู่มาก มากมายอีกหลายปี ที่เราคิดไปเองเนี่ย วันหนึ่งเมื่อเราอายุ 50, 60 มันก็คงจะวิ่งผ่านตาเราแบบนี้สินะ มันดูไม่นานอย่างที่คิดเลย

บางทีก็คิดนะ ว่าเรากำลังเสียเวลาที่มีค่า ไปกับอะไรบางอย่างในอดีตที่มันหวนคืนมาไม่ได้หรือเปล่า คิดสิ รู้สึกสิ ว่าเวลาที่เหลืออยู่มันน้อยแค่ไหน ….​ เราก็อย่าให้ตัวเราเองในอนาคต ไม่ว่าจะไกลหรือใกล้ข้างหน้า ต้องมาพูดแบบนี้เลย

“อดีต” ของ “วันพรุ่งนี้” ยังคงแก้ไขได้เสมอ ก็แค่เปลี่ยนวันนี้เอง มันไม่ยากหรอกนะ

Coincidence คำพูดปลอบใจ และทฤษฎีความน่าจะเป็น

เคยอ่านเจอ หรือว่าเคยได้ยิน เรื่องความคล้ายกันของ John F. Kennedy กับ Abraham Lincoln มั้ย? สองคนนี้มีอะไรที่คล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อเชียวล่ะ

มันบังเอิญขนาดนั้นเลยเหรอ?

ไม่มีอะไรหรอกครับ พอดีช่วงนี้เปิดฤดูกาลบอลน่ะ แล้วทีมโปรดของผม Manchester United ก็เปิดได้อย่างน่าดูสุดๆ คือ เสมอมันรวดสองนัด แพ้ใน derby match อีกตะหาก แต่ว่าช่วงก่อนจะแพ้ Man City ก็มีแฟนบอลที่แม่นสถิติของทีม มาบอกว่าคร้ังสุดท้ายที่เราเปิดฤดูกาลมาเสมอสองนัดเนี่ย ปีนั้นเราได้ 3 แชมป์

ปีก่อน ผมจำได้ว่าก่อนที่ Man United จะแพ้ Milan ใน ECL น่ะครับ มีหลายคนที่เอาสถิติปีที่แล้วกับปีที่ได้ 3 แชมป์นั้นมาเทียบกัน ว่ามันเหมือนกันสุดๆ ในหลายๆ อย่าง ….​

แต่แล้ว ปีที่แล้วก็ไม่ได้ 3 แชมป์ จริงๆ แล้วได้แค่แชมป์เดียว

ผมอยากจะเขียนเรื่องนี้มานานแล้วครับ เรื่องความเข้าใจความน่าจะเป็น ความเข้าใจปรากฏการณ์ของ coincidence และ common sense ที่บางทีอาจจะกลายเป็น common nonsense ไปเสียได้กับเรื่องแบบนี้

มันเป็นธรรมดาครับ ที่ถ้าเรามีข้อมูลอะไรบางอย่าง และเลือกพิจารณาข้อมูลบางอย่าง อย่าง “หลวม”ๆ แล้ว มันจะมีข้อมูลที่สามารถตรงกันได้อย่างน่าอัศจรรย์เลย ลองเล่นเกมง่ายๆ ดูครับ

  1. เอาไพ่มา 2 สำรับ ให้คน 2 คนช่วยกันสับไพ่คนละสำรับ สับให้เละจนกว่าจะพอใจนะ
  2. จากนั้นให้ทั้ง 2 คนหยิบไพ่ใบไหนก็ได้ (หรือว่าจะเอาใบบนสุดของสำรับก็ได้นะ) มาเปิดพร้อมกันทีละคู่
  3. ดูซิว่าจะมี “ตรง” กันบ้างมั้ย

สนุกนะครับ ที่ผม “” คำว่า “ตรง” เนี่ยแหละ เพราะว่าถ้าเรายิ่งระบุ condition ในการ “ตรง” ให้ “หลวม” เท่าไหร่ มันก็ยิ่งตรงกันมากขึ้นเท่านั้น (อันนี้ common sense ใช่มั้ย) เช่น condition ด้านล่างนี้ เรียงจาก strict มากที่สุด ถึงหลวมมากที่สุดนะ

  1. ไพ่จะตรงกันเมื่อทั้งสํญลักษณ์และหมายเลขตรงกัน (1 ใน 52 ใบ)
  2. ไพ่จะตรงกันเมื่อมีสีเหมือนกันและหมายเลขตรงกัน (2 ใน 52 ใบ)
  3. ไพ่จะตรงกันเมื่อหมายเลขตรงกัน (4 ใน 52 ใบ)
  4. ไพ่จะตรงกันเมื่อมีสัญลักษณ์เดียวกัน (13 ใน 52 ใบ)
  5. ไพ่จะตรงกันเมื่อมีสีเดียวกัน (26 ใน 52 ใบ)

เป็นต้น

ผมลองทำ simulation ง่ายๆ นะครับ โดยนับสถิติจากการเล่นเกมทั้งหมด 100 ครั้ง ได้ผลดังนี้ครับ

  1. สัญลักษณ์และหมายเลขตรงกัน มากที่สุด 4 ครั้ง น้อยที่สุด 0 ครั้ง เฉลี่ย 1.05 ครั้ง ตัวเลขที่ออกมากที่สุดคือ 1 (38 ครั้ง)
  2. หมายเลขตรงกัน มากที่สุด 9 ครั้ง น้อยที่สุด 0 ครั้ง เฉลี่ย 4.24 ครั้ง ตัวเลขที่ออกมากที่สุดคือ 3 (23 ครั้ง)
  3. สัญลักษณ์ตรงกัน มากที่สุด 21 ครั้ง น้อยที่สุด 6 ครั้ง เฉลี่ย 12.85 ครั้ง ตัวเลขที่ออกมากที่สุดคือ 10 (14 ครั้ง)
  4. สีตรงกัน มากที่สุด 34 ครั้ง น้อยที่สุด 16 ครั้ง เฉลี่ย 25.6 ครั้ง ตัวเลขที่ออกมากที่สุดคือ 26 (24 ครั้ง)

เห็นได้ชัดเจน ว่ามันจะมีสิ่งที่ บังเอิญ ตรงกันบ้าง ยิ่งเราให้ condition มันหลวมเท่าไหร่ มันยิ่งตรงกันมากขึ้น ง่ายขึ้น เท่านั้น ซึ่งก็พอๆ กับเรื่อง Lincoln กับ Kennedy หรือว่าเรื่องความบังเอิญทั้งหลายแหล่ในฟุตบอล เหตุการณ์ต่างๆ กีฬาต่างๆ สถานการณ์โลกต่างๆ ด้วย

บางทีถ้าเราคิดว่าอะไรมันสำคัญล่ะก็ เราจะ focus และมองเห็นแต่สิ่งนั้นอย่างเดียว เช่นเราลองคิดว่าตัวเลขบางตัวมันสำคัญสิ (เช่น 23 หรือว่า 3.14) เราอาจจะเห็นมันอยู่รอบๆ ตัวมากมายกว่าตัวเลขอื่นๆ .. เพราะว่าเราเลือกมองไพ่ที่สิ่งรอบตัวหงายขึ้นมา เฉพาะใบที่มันบังเอิญตรงกับไพ่ที่ใจเราหงายขึ้นมาเอง

เหตุการณ์ต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นตลอดเวลาบนโลกนี้ มันก็จะมีอะไรที่คล้ายกันบ้าง มากหรือน้อยก็แล้วแต่เหตุการณ์นั้นๆ บางทีถ้าเหตุการณ์มันคล้ายกับอะไรที่เคยเกิดขึ้นแล้วมันไม่ค่อยดี บางทีเราก็ระลึกไว้บ้างละกันว่า มันเป็นแค่ความบังเอิญเท่านั้น หรือว่าบางทีที่มันไปเกิดคล้ายกับเหตุการณ์ดีๆ มันก็แค่ความบังเอิญเช่นกัน

ระลึกไว้: เพราะว่าเราเลือก มอง ไพ่ที่สิ่งรอบตัวหงายขึ้นมา เฉพาะใบที่มัน บังเอิญตรง กับไพ่ที่ใจเราหงายขึ้นมาเอง

บทความ กับ credit : หนังสือ 35 ปีคณะวิทย์ ศิลปากร

เซ็ง(โว้ยยยยยย)

เขียนบทความลงหนังสือ 35 ปีคณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปากร (ที่ทำงานปัจจุบัน) ทางคณะอยากได้บทความที่ออกแนว popular science คือ เขียนให้คนทั่วไปอ่าน ไม่วิชาการจ๋า เราก็เขียนให้ และก็เวียนให้คนในภาคช่วยกันอ่าน ช่วยกัน comment

พอมาพิมพ์จริงๆ ชื่อ คนเขียน หายซะงั้น ของอาจารย์ท่านอื่น ภาควิชาอื่น ทำไมมี ชื่อเต็ม และนามสกุล ของอาจารย์ผู้แต่งอยู่ด้วยครบถ้วน แต่ไม่บอกว่าเป็นอาจารย์ภาคไหนเสียด้วยซ้ำ

พอมาเป็นบทความของเรา ทำไมชื่อ รวิทัต ภู่หลำ มันหาย เหลือแต่ อาจารย์ประจำภาควิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หว่า

เหมือนกับว่าอาจารย์ทั้งภาคช่วยกันแต่งเลยเนอะ

ปล. ดีนะ ที่ยังมี e-mail ของเราลงอยู่ด้วย ไม่งั้นคงไม่มี trace อะไรเลยจริงๆ

แต่ว่าเบื่อว่ะ ทำไมวะ เฮ้อ

ปล. ขอบคุณลูกศิษย์สองคน thitipat ที่เป็นคนสังเกต คนเจอ และ kiterminal ที่เป็นคนบอกผม