ชี้แจง: “คู่มือเขียน iPhone App”

หนังสือเล่มแรกของผม “คู่มือเขียน iPhone App” ก็ได้ออกวางตลาดเรียบร้อยแล้ว ก็หวังว่าจะช่วยเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ น้อยๆ สำหรับหลายๆ คนที่อยากจะหัดเขียนโปรแกรม หรือแอพ เพื่อใช้งาน iPhone, iPad, iPod touch กันได้บ้าง


iphoneapps.gif

หลังจากหนังสือเล่มนี้วางตลาดไปได้ไม่นาน ก็มี e-mail เข้ามาหาผม เพื่อขอ Code จากหนังสือเล่มนี้พอสมควร ซึ่งสิ่งที่ผมทำก็คือ ไม่ให้ Code ทันที แต่จะพยายามจะถามว่าติดปัญหาตรงไหน เพื่อจะได้ช่วยแก้ปัญหา พร้อมอธิบายเพิ่มเติมเท่าที่ทำได้ เพราะว่าแต่ละคนอาจต้องการคำอธิบายที่แตกต่างกันตามธรรมชาติ ดังนั้นหากผมได้รู้ถึงปัญหาของแต่ละคน ว่าติดตรงไหน หรือว่าอ่านหนังสือตรงไหนไม่ละเอียด ก็จะช่วยอธิบายให้ตรงจุดได้

บางครั้งที่ผู้อ่านหลายท่าน พิมพ์โค้ดตามหนังสือ และเกิด Error หรือ Warning ขึ้นมา ทั้งๆ ที่พิมพ์ตามตรงเป๊ะทุกตัวอักษรแล้ว และเมื่อเกิดเรื่องเช่นนั้นขึ้น บางครั้งผู้อ่านบางท่าน อาจจะเริ่มทึกทักว่าหนังสือผมผิด หรือหนังสือผมลืมโน่นลืมนี่ ฯลฯ

ผมขอชี้แจงอะไรบางอย่างตรงนี้ครับ โดยอ้างอิงตัวอย่างจาก e-mail ที่ผมตอบผู้อ่านผมบางท่าน (ขอสงวนชื่อผู้อ่านนะครับ ว่าผมตอบใคร)

กรณีแรก ผู้อ่านประสพปัญหาจากโค้ดในหน้า 157

การวางตำแหน่งต่างๆ ต้องประมวลความรู้เองจากหน้า 121 ครับ ผมเขียนว่า

“ก่อนจะใช้งานสิ่งใดๆ ต้องประกาศสิ่งนั้นก่อน” ดังนั้น …. (พร้อมกับบอกวิธี)

เป็นความตั้งใจของผู้เขียน ที่ต้องการให้ผู้อ่านประมวลความรู้เอง จากสิ่งที่ทำไปแล้วในบทก่อนๆ

ลำดับ Code ที่ปรากฏในหนังสือ สะท้อนลำดับความคิดของผมครับ ไม่ได้สะท้อนลำดับของโค้ดในไฟล์
การที่ผมเขียน Code หนึ่งๆ ทีหลัง ไม่ได้แปลว่าจะต้องปรากฏภายหลังในไฟล์ครับ เราอาจต้อง
ใส่ Interface ของมันไปก่อนใน .h หรือว่าอาจจะต้องเขียน private interface เสียก่อน หรือว่าอาจจะใช้
วิธีการประกาศไว้ก่อน ก็ได้

กรณีที่สอง ผู้อ่านประสพปัญหาจากโค้ดในหน้า 78

Code ที่คุณเขียน และบอกว่ามีปัญหา อยู่ในหนังสือหน้า 78 นะครับ

ลองย้อนไปอ่านดูในหน้า 64 ครับ ตั้งแต่บรรทัดแรกเลย ว่าผมเขียนว่าอะไร และผมมีตัวอย่างให้ดูแล้วด้วย (เรื่อง @synthesize)
ซึ่งจะว่าไป ก็สืบมาตั้งแต่ขั้นตอนการเขียนที่บอกไว้ตั้งแต่หน้า 59 :-)

เป็นความตั้งใจของผมครับ ที่ผู้อ่านจะต้อง “นำความรู้ที่อ่านผ่านไปแล้ว และเห็นตัวอย่างไปแล้ว มาประมวลใช้เอง”

ทีนี้คงจะไม่มีทางลืม @synthesize สิ่งที่กำหนด @property เลยสินะครับ ดีกว่าให้พิมพ์ตามๆ ไปอย่างไม่รู้เรื่องอะไร
เพราะว่ามีหลายคนที่เคยเจอมา อ่านหนังสือไม่ละเอียด ไม่คิด จะดูแต่ code อย่างเดียว และพิมพ์ตามอย่างเดียว
ถ้า code ทำงานได้หมด ไม่เจอปัญหาจากการอ่านไม่ละเอียดและไม่คิดเลย ก็จะ take everything for a grant
(ขออภัย นึกภาษาไทยไม่ออก … ประมาณว่า มองข้ามโน่นนี่ นึกว่าเป็นเรื่องเล็กๆ) ทำให้แก้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้ในที่สุด

สิ่งที่คุณเจอ และการแก้ปัญหาของคุณ เป็นเจตนาของผมทีี่อยากให้เกิดขึ้นครับ

มาถูกทางแล้วครับ ยินดีด้วย

ดังนั้น เพื่อ Make Statement ให้ชัดเจนตรงนี้ ผมขอบอกอีกครั้งนะครับ (ซึ่งเป็นการเขียนซ้ำข้อความที่ผมเขียนไว้ในหน้า 14 ของหนังสือ ซึ่งหลายท่านอาจจะอ่านข้ามไปแบบไม่สนใจเท่าไหร่)

หนังสือเล่มนี้จะไม่มี “การรวมโค้ด” ของโปรแกรมเอาไว้ที่หน้าใดหน้าหนึ่ง ให้พิมพ์ตามหรือลอกเฉพาะส่วนของโค้ดได้ โดยไม่อ่านเนื้อหาและความคิดอันเป็นที่มาของโค้ด

นอกจากนี้ โค้ดหลายส่วนที่ซ้ำหรือคล้ายกับที่เคยผ่านมือกันมาแล้ว บางส่วนผู้อ่านจะต้องเขียนเพิ่มเติมเอง

ผมไม่ปฏิเสธครับ ว่าลักษณะการเขียนหนังสือของผมนั้น ได้รับอิทธิพลจากหนังสือต่างประเทศ ทั้งอเมริกาและญี่ปุ่น เป็นอย่างมาก

ผมเชื่อว่า นี่คือสิ่งที่ถูกต้อง ผมไม่ต้องการให้คนเขียนโปรแกรม หัดเขียนโปรแกรมอย่างฉาบฉวยและมักง่าย ไม่ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และที่สำคัญที่สุดคือ หัดเขียนโปรแกรมบนถนนที่ราบเรียบเกินไป ไม่พบปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องประมวลความรู้พื้นฐานมาแก้เลย

หลายต่อหลายคน หัดเขียนโปรแกรมตามตัวอย่าง คอมไพล์ผ่าน ทำงานได้ ตามตัวอย่างเป๊ะๆ ก็หลงระเริง คิดว่าเข้าใจแล้ว ทำได้แล้ว พอเขียนจริง ต่อให้เป็นโปรแกรมง่ายๆ ไม่ต้องยาก (แค่เปิดไฟล์ นับคำในไฟล์ว่ามีกี่คำ ที่ผมชอบใช้เวลาสอนหนังสือที่ ม.ศิลปากร) ก็เริ่มต้นไม่ถูก พอเขียนแล้วเจอปัญหาเล็กน้อย ก็ไปต่อไม่เป็น เจอข้อความจาก Compiler ก็กลัว ฯลฯ

ขอให้ค่อยๆ พยายามๆ ครับ อ่านหนังสือให้ละเอียด ใช้เวลากับมันให้มากสักนิด เพื่อรากฐานที่มั่นคง

หนังสือผม ไม่เขียนหลอกผู้อ่านไปวันๆ ว่าใครก็สามารถเป็นนักพัฒนาโปรแกรมสำหรับ iPhone ได้ อย่างแน่นอน การที่จะให้ทำตามแบบ Copy & Paste แบบไม่ต้องคิด และได้โปรแกรมที่เหมือนจะทำงานได้นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ผมเห็นด้วย เป็นสิ่งที่ฉาบฉวยและไม่ยั่งยืน ผมเชื่อว่า ไม่มีความรู้แบบฉาบฉวยแม้แต่บรรทัดเดียวในหนังสือเล่มนี้

และ … คาดเข็มขัดนิรภัยให้แน่นนะครับ เพราะว่าเมื่อพื้นฐานของทุกคนแน่นแล้ว “เล่ม 2” จะเร็วกว่านี้ หนักกว่านี้ ยากกว่านี้ แน่นอน เพราะจะเป็นสิ่งที่ผมทิ้งท้ายไว้ในบทสุดท้าย (บทที่ 16) แต่ถ้าไม่มีสิ่งที่เป็นความรู้ “ระดับสูงขึ้นไป” เลยล่ะก็ การเขียน App หลายตัวสำหรับ AppStore ปัจจุบันนั้นทำไม่ได้แน่นอนครับ

ปะผุ และ ฉาบฉวย

ครั้งหนึ่งเคยเขียนเรื่องทำนองนี้มาแล้วหลายครั้ง เช่น

วันนี้ กว่า 2 ปีผ่านไปจาก entry เหล่านั้น คงจะได้เวลาที่ผมจะกลับมาเขียนถึงมันอีกสักครั้งหนึ่ง ด้วยวัยที่อาจจะเปลี่ยนไป ด้วยมุมอะไรบางอย่างที่อาจจะมองได้กว้างขึ้นหรืออาจจะแคบลง ซึ่งจริงๆ แล้วผมเองได้บ่นเรื่องพวกนี้ไว้เป็นระยะๆ ใน Twitter ที่สุดท้ายก็ไม่ได้กลายเป็นบทความอะไรที่ยั่งยืนหรือว่าอ้างอิงได้ในภายหลัง ถึงจะมีคนรวบรวมเอาไว้เป็นระยะๆ ก็ตาม

ณ วันนี้ ผมกำลังจะลาออกจากงานบริหาร กลับมาเขียนโค้ดเต็มตัวอีกครั้ง และทุกวันนี้ ผมพยายามสอนโค้ดมากขึ้น จากการที่ไปสอน iOS SDK Development ตามที่ต่างๆ มากมาย ผมพบความจริงที่น่าเศร้าใจมากขึ้น และเป็นการย้ำหัวตะปูกับเรื่องเดิมๆ มากขึ้น

น้องๆ ที่กำลังศึกษาในสาขาวิชาที่ต้องเขียนโปรแกรม ที่ต้องโค้ด คิดคอนเซปท์ของโปรแกรมน้อยลงมาก และ เขียนโปรแกรมน้อยลงมาก ซึ่งส่งผลให้เมื่อเจอปัญหาแล้วตั้งเป้าหมายและแก้ปัญหาไม่เป็น รวมถึงมือไม่ขยับในการเขียนโค้ดให้เลย

ปัญหานี้ไม่ได้มีแต่สาขาที่ต้องเขียนโปรแกรมแน่นอน เนื่องจากอาจจะเป็นปัญหาฝังลึกในระบบการศึกษาของบ้านเรา ที่เน้นการได้คำตอบอย่างฉาบฉวยมาตั้งแต่ไหนแต่ไร และมากขึ้นๆ เวลามีการบ้าน ก็ไม่ได้ทำเอง แต่ต้องมี “คนสอนการบ้าน” ตลอดเวลา และมากขึ้นๆ รวมถึงหนังสือสารพัดกุญแจ ที่บรรจุคำตอบทุกอย่างที่อยากรู้เอาไว้

นักเรียน นิสิต นักศึกษา และคนจำนวนมากที่เป็น “ผลผลิตที่สมบูรณ์ ของระบบการศึกษาที่ล้มเหลว” นี้ จึงติดนิสัยฉาบฉวยนั้นมาอย่างฝังรากลึก ถอนตัวไม่ออก ดัดไม่ค่อยได้ ผลที่ตามมานั้นน่ากลัวนัก

  • เวลาอยากได้อะไรก็จะอยากได้ผลนั้นๆ อย่างเร่งด่วน ไม่สนใจวิธีการที่จะได้ผลนั้น ค่อยๆ ทำอะไรทีละขั้นทีละตอนไม่เป็น
  • วิธีการให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการนั้น จะเป็นลักษณะ “สำเร็จรูป” มากขึ้นๆ นั่นคือ มันเหมือนเป็นความคิดในระดับจิตใต้สำนึกไปแล้ว ว่ามันจะต้องมีคนทำเอาไว้เราไปหามาใช้ได้อย่างใจเราเป๊ะๆ แบบสำเร็จรูป ไม่ต้องทำอะไรเลย ถ้าเป็นโค้ดก็ “copy-paste ปุ๊บ ต้องได้ปั๊บ” เป็นต้น
  • สังเกตได้ไม่ยาก เวลาสั่งงานอะไรก็ตาม น้องๆ จะใช้เวลาส่วนมากหมดไปกับ “การพยายามหาสิ่งที่เหมือนที่ต้องการเปี๊ยบ ใน Google ถ้าไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ ก็หาต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีจบสิ้น”
  • ซึ่งนั่นเป็นปัญหา ทำให้เราทำอะไรที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าระดับพื้นฐานไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่ซับซ้อนมากขึ้นนั้น โอกาสที่จะมีคนทำเอาไว้ให้เราเอาไปใช้ได้แบบเป๊ะๆ นั้น น้อยมาก ต้องเอามาปรับปรุง ดัดแปลง หรือนำเข้ามาใช้ร่วมกับส่วนอื่นๆ ของคำตอบเราอยู่ดี
  • ไม่สนใจพื้นฐาน คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น บางคนอยู่ในสภาวะ “ดูถูกพื้นฐาน​” เสียด้วยซ้ำไป สนใจแต่ “ขั้นตอนสุดท้าย” เท่านั้น หลักคิดอะไรก่อนหน้านั้นเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไร ก็ช่างมัน จะเร่งรัดผ่านไปให้หมด
  • ทีนี้เมื่อสร้างอะไรเองทีละขั้นทีละตอนไม่เป็น ก็เป็น “ผู้สร้าง”​ หรือ “ผู้สร้างสรรค์” ยาก
  • แต่ว่าจะมีความเป็น “ผู้เสพ” หรือ “ผู้บริโภค” สูงขึ้นเรื่อยๆ มีความต้องการ มีอาการเหมือนผู้บริโภค นั่นคือ “ถ้าสิ่งที่อยากได้นั้น ไม่มีคนทำไว้ ก็เป็นความผิดผู้ผลิต/ผู้สร้าง” ดังจะเห็นได้ชัดจากคำพูดที่ว่า “ลองไปหาดูแล้ว ไม่มี” “หาใน google ไม่เจอ” ฯลฯ มากขึ้นทุกที

กี่ครั้งแล้วไม่ทราบ ที่ผมเห็นภาพที่น่าเศร้าใจเหล่านี้ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความพยายามที่จะลองผิดลองถูก ความพยายามที่จะคิด หรือความสามารถในการแก้ปัญหาเบื้องต้นในลักษณะของ “ผู้สร้าง” นั้น หายไปสิ้นเชิงจากความระบบความคิดและระบบการศึกษาในปัจจุบันเสียแล้วหรือ

ระบบการศึกษาที่เน้นการลัดไปสู่คำตอบอย่างรวดเร็วเกินไป และการที่อยากได้อะไรต้องมีคนอื่นทำให้ แก้ให้ ไม่มีที่สิ้นสุด ได้สร้างคนที่มีภาวะต้องการที่พึ่งพาสูงขึ้นๆ และเป็นที่พึ่งพาได้น้อยลงเรื่อยๆ

กี่ครั้งกันเล่า ที่เราพบคนที่อยากได้ระบบอะไรก็แล้วแต่ โดยไม่สนใจว่าสร้างมันอย่างไร จะเอาแต่ผล กี่ครั้งกันเล่า ที่คนบ้านเราไปเห็นแต่ผลลัพธ์ที่สำเร็จแล้วในต่างประเทศ ที่ใช้เวลาสร้างนับสิบๆ ปี แต่เราจะก๊อปปีิ้เฉพาะขั้นตอนสุดท้าย และเราก็บอกว่าเรามีแล้วเหมือนกับเขา แต่ว่ามันขาดวิญญาณและความเข้าใจมาอย่างสิ้นเชิง

เราคงจะเป็น “ผู้สร้าง” หรือเป็น “นักแก้ปัญหา” ที่แท้จริงกันยากขึ้นทุกวัน และการ “สร้างสรรค์” หรือ “การแก้ปัญหา” ของเรานั้นอาจหมายถึง “การแสวงหา มาปะผุ” มากขึ้นทุกวัน โดยสิ่งที่เราแสวงหามาได้นั้น เราก็ไม่ได้เข้าใจที่มาที่ไปของมัน เราไม่ได้มีแนวคิดอะไรในหัวเลย ว่าอะไรมันทำงานอย่างไร อะไรได้มาอย่างไร ก็เป็นได้

ตราบใดที่ บ้านเรายังคงสร้างคนที่สนใจแต่ “ข้อนี้จะตอบอะไร” แทนที่จะสนใจว่า “ทำไมถึงมีคำถามนี้” หรือ “จะเริ่มต้นมองปัญหานี้อย่างไร” มันก็คงจะเป็นแบบนี้ไปมากขึ้นๆ

ครู

หากจะมีอาชีพไหนที่ทำให้ผมเป็นผมในช่วงเวลา 25 ปีที่ผ่านมา คงไม่พ้น “ครู”

ตั้งแต่เด็ก ผมจำความรู้สึกที่ว่า “ครู” เป็นเหมือนแม่คนที่สอง ในสมัยเรียนอนุบาล เป็นเหมือนพี่สาวที่น่ารัก ในสมัยเรียนประถม เป็น “คนแปลกหน้า” คนแรกๆ ที่รู้จักอย่างจริงจังในชีวิต และต้องใช้เวลาอยู่ด้วยวันหนึ่งๆ หลายชั่วโมง เพราะครูเหล่านี้เป็นครูประจำชั้น

ในวันเวลาเหล่านั้น ไม่มีคำว่ากวดวิชา ไม่มีสอบแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตาย ผมจำไม่ได้ว่าได้เรียนวิชาการอะไรบ้างกับครูเหล่านั้น แต่ผมจำได้ว่า

  • ครูสดศรี คุณแม่คนที่สอง นั่งคุยเล่นด้วย เวลาที่ผมไม่ยอมนอนกลางวันในชั้นอนุบาล ตอนที่คนอื่นหลับกันหมด (ด้วยความที่ตัวเองเป็นคน hyper พอสมควร นอนยาก … จนถึงทุกวันนี้) คอยเรียกเวลาที่คุณแม่มารับกลับบ้าน ในตอนที่ผมกำลังเล่นกับเพื่อนๆ อยู่ เข้าใจเราเวลาที่เราทำอะไรแปลกประหลาดกว่าเพื่อนๆ
  • ครูสุกานดา บางทีก็เรียกครูหมวย เจ๊หมวย พี่สาวคนสวย ชอบมานั่งคุยกับแม่ที่บ้านบ่อยๆ มีอะไรก็เอามาฝากที่บ้านประจำ เป็นคนที่ปกป้องผมเสมอเวลาที่ผม “พูดเร็ว” และเป็นคนที่ให้ผม “present” บนเวทีครั้งแรกในชีวิต (เล่านิทานบนเวที คนฟังเยอะแยะ ในงานอะไรสักอย่าง) … ถ้าพี่หมวยไม่จับไปเล่านิทานวันนั้น อาจไม่มี Petdo Talkshow, Ignite Thailand และการพูดสาธารณะนับครั้งไม่ถ้วนของผมในทุกวันนี้ก็ได้ (เออ ถึงแกจะชื่อเล่นชื่อหมวย แต่ว่าตาโต ผมน้ำตาล ยังกะลูกครึ่งฝรั่ง)
  • ครูกอบลาภ บางครั้งก็เรียกแกป้ากอบ ครูผู้ดูแลคณะสนามจันทร์ที่วชิราวุธ 4 ปีที่อยู่หอนั้น มีเรื่องราวเยอะแยะมากมาย สิ่งที่จำครูกอบได้ ไม่ใช่ว่าแกเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ หรือว่าเป็นอาจารย์ภาษาอังกฤษ แต่ว่าจำแกได้ที่แกจับไปยืนทำโทษที่ระเบียงเพราะไม่ยอมหลับไม่ยอมนอน ชื่อเล่นปัจจุบัน (เดฟ) ก็ครูกอบเนี่ยแหละเป็นคนเริ่มเรียก (จากความเข้าใจผิด) ยังจำได้กับที่แกบอกว่า “หัดทำอะไรนอกหนังสือบ้างก็ดีนะ” ตอนที่สอบภาษาอังกฤษ
  • ครูกิตติพันธุ์ หรือครูหม่อม เพราะว่าแกเป็นหม่อมหลวง ….. ตอนที่เรียนกับแก คิดว่าครูอะไรวะ ดุฉิบหาย ใครพูดมากเกินไป แกเอาผงบรเพ็ดดีดใส่ลิ้นหมด แต่ว่าผมโดนผงบรเพ็ดเพราะว่า “พูดน้อยไป” น่ะ มีแบบนี้ซะอีก
  • ครูโฉมศรี … ป้าโฉมจอมโหด เคยต้องยืนเรียนหน้าชั้นทั้งเทอม เพราะว่าเขาเรียนวิชาแกสายไปห้านาที แกบอกว่า “ถ้าอยากมาสาย ก็ยืนเรียนหน้าห้องละกัน” ถือหนังสือเรียน 7 เล่มยืนเรียนหน้าชั้น (ห้ามวางบนพื้นด้วย ต้องถือไว้) เป็นชั่วโมงๆ ตั้งเป็นเทอม

ช่วงสั้นๆ ที่ไปเรียนอเมริกา ก็จำได้ว่า

  • Mrs. Leonard ที่ Francis C. Hammond Jr. High School คนที่สอน Algebra ตอนนั้น เชื่อมั้ยว่า ทุกวันนี้ถึงผมจะจบ Applied Math (Informatics) ผมก็ยังใช้ตัวอย่างการสอนเรื่อง “สมการ” ของแก เล่าให้เด็กทุกรุ่นทุกกลุ่มทุกชั้นปีที่ผมได้สอน อยู่เลย ยังจำได้เลยที่แกบอกว่า “ถึงจะคำนวนได้ แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร เอาไปใช้อะไร มันไม่เคยมีประโยชน์”
  • Mrs. Smith ที่พาไปเรียนประวัติศาสตร์ Civil War ที่สนามรบ Manesses … บอกตรงๆ ว่าไม่เคยเรียนวิชาประวัติศาสตร์สนุกขนาดวันนั้นมาก่อน ปกติเรียนที่เมืองไทยเคยแต่ต้องจินตนาการเอาเองว่าไอ้โน่นไอ้นี่มันเป็นยังไง ไม่เคยเรียนแบบ on-site แบบตอนนั้นเลย สนุกมาก
  • Mr. Kent ที่สอนวิทยาศาสตร์ ด้วยการให้เล่น ให้เล่า และคิดโน่นคิดนี่อย่างสนุกสนาน จำได้ว่าเคยถาม-ตอบกับแกไฟแลบในห้องเรียน สนุกมาก สนุกมากๆ และเพื่อนชอบกัน เป็นคลาสวิทยาศาสตร์ที่สนุกที่สุดในชีวิต

น่าแปลก ว่าในช่วงหลังจากผมกลับมาจากอเมริกา แล้วมาเรียนเมืองไทย ที่สาธิตวิทยาลัยครูเทพสตรี (ในขณะนั้น) ผมกลับจำใครไม่ได้เลย มันเป็นความทรงจำที่เลือนลางมาก มากกว่าครูสองคนสมัยเรียนอนุบาลกับประถมเสียอีก (มีความทรงจำในด้านลบกับอะไรหลายๆ อย่างบ้าง ที่ยังคงชัดเจนอยู่ ขอไม่นึกถึงมันดีกว่า)

ตอนที่ไปเรียนกวดวิชาตามที่โน่นที่นี่ ผมนึกออกอยู่ 2 คน

  • อ.ธวัชชัย ชัยสวัสดิ์ แกเป็นคนที่สอน Physics ได้แปลกที่สุดในบรรดาพวกกวดวิชาด้วยกัน คือไม่สอนทำโจทย์ ไม่สอนสูตร ไม่เอาเรื่อง Ent’ มาเป็นตัวตั้งเท่าไหร่ ถ้าจะไปเรียนเพื่อสอบอย่างเดียว จะงงว่าแกสอนอะไรของแก ไม่รู้เรื่อง สอนไม่ดี และด่าชาวบ้าน (กวดวิชาอื่นๆ) ที่สอนสูตรลัด หรือสอนความเข้าใจที่ผิดเป็นประจำ … แต่ว่าแกนี่แหละ เป็นต้นแบบของการสอนของผมทุกวันนี้ สอนไม่เน้นเอาไปสอบ แต่สอนเอาพื้นเอาฐานให้เข้าใจ ใช้งานได้ … ที่ไปเรียนเน้นด้าน Computational Physics ส่วนหนึ่งก็มีผลมาจากแกนี่แหละ
  • พี่เจี๋ย JIA …. ผมไม่รู้ว่าไปสนิทกับแกได้ยังไงว่ะ แต่แกเรียกผมว่า “หนุ่มหน้าไทย” ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะว่าบรรดาเพื่อนๆ ที่สนิทกันตอนไปเรียน JIA นี่ตี๋ หมวย ทั้งนั้น สิ่งที่ผมได้จากพี่เจี๋ย ไม่ใช่เคล็ดวิชาการทำโจทย์สารพัดเหมือนที่หลายๆ คนได้นะ แต่เป็นบทเรียนสำคัญมากที่วันหนึ่งแกพูดขึ้นมาในคลาส คือ เรื่องการเป็นลูกจ้างและผู้ประกอบการ สมการเส้นตรง ที่เริ่มต้นด้วยจุดตัดแกน Y และมีความชันคงที่ ก็เหมือนลูกจ้าง และผู้ประกอบการที่เป็น parabola ที่เริ่มต้นจาก 0 และต้อง “ดิ่งลง” ก่อน นั่นคือ จุดยอดของกราฟที่อยู่ต่ำกว่าแกน Y คือมีพิกัดเป็น (+, -) ในกรณีที่ X เป็นเวลา และ Y เป็นเงิน … ผมยังคงเห็นภาพนั้น ตอนที่พี่แกสอนเรื่องนี้ อยู่ติดตาถึงทุกวันนี้ที่เป็นผู้ประกอบการเอง … ส่วนเรื่องอื่นๆ เทคนิคทั้งหลายที่พี่สอนน่ะเหรอ ขอโทษนะพี่ ผมจำไม่ได้ว่ะ และนึกไม่ออกด้วยว่าได้ใช้จริงๆ หรือเปล่า แต่นี่แหละ ที่ได้ใช้จริง และสำคัญมาก

    อ่อ พี่เจี๋ยไปส่งขึ้นเครื่องตอนไปญี่ปุ่นครั้งแรก (หลังจากได้ทุน) ด้วยนะ

ส่วนตอนที่เรียนญี่ปุ่น ก็คงมีแค่สองคนน่ะแหละ

  • Dong-Sheng Cai รู้จักกับแกตั้งแต่ตอนปีหนึ่ง แกสอน lecture หนึ่งในวิชา Information Literarcy วันนึงบังเอิญเจอกับแกบนรถบัสกลับจาก Tokyo ไป Tsukuba แกถามว่า “เขียนโปรแกรมเก่งหรือเปล่า” ไอ้เราก็ไม่รู้จะตอบยังไง (แกคงเห็นเราซื้อหนังสือ Programming เยอะ) ก็เลยแนะนำให้ไปสัมภาษณ์งานเป็นโปรแกรมเมอร์ผู้ช่วยวิจัยที่ RWCP … ถ้าไม่มีแกก็ไม่มีวันนี้เหมือนกัน (ยังจำการบ้านแกได้เลย ให้หา “ตอนสุดท้ายของโดราเอมอน” แล้วมา debate กันเรื่องความเชื่อถือได้ของข้อมูลบนเน็ต สนุกดี) … ไม่พอ แกเป็นคนที่ผม “เลียนแบบพฤติกรรม” มากที่สุดในเวลาถามนักศึกษาใน seminar หรือว่าเวลาที่ น.ศ. present งานต่างๆ .. เรียกได้ว่าแทบจะถอดแบบมาเลย

    ไม่พอ แกยังเป็นคนที่พูดประโยคที่ผมบอก น.ศ. ต่อตลอดเวลาว่า “คิดว่าอ่านหนังสือจนทำได้เหมือนหนังสือ หรือว่าท่องได้เหมือนหนังสือ แล้วคิดว่าเข้าใจงั้นเหรอ เข้าใจผิดแล้ว ต้องลงมือทำตามนั้น และต่างจากนั้น เล่นกับมันให้ได้ก่อน ถึงจะเรียกได้ว่าเริ่มจะเข้าใจ” และ “ถ้าแค่อาจารย์คนเดียว ยังไม่มีปัญญาเถียงหรือเอาชนะเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง วันหนึ่งจะไปเถียงกับคนทั้งโลกได้ยังไง” และสำคัญที่สุด ที่แกสอนด้วยการกระทำตลอดเวลา “เรื่องที่ไม่รู้เรื่อง รู้จักแค่ผิวเผิน รู้จักแค่ชื่อ อย่าทำตัวเหมือนรู้ อย่าพูดให้หลุดออกจากปาก ทุกคำที่พูด ทุกคำบนสไลด์ ต้องอธิบายได้หมด”

  • James Bradford Cole ไม่พูดถึงคนนี้คงไม่ได้ lecture แกในวิชา Chaos and Complex System Theory เป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตผมที่สุด เรื่องวิชาความรู้น่ะเรื่องหนึ่ง แต่ว่าเรื่องความสนใจในวิชาการลึกๆ นี่มาจากแกนี่แหละ เป็นคนที่ใช้เวลา 3 ปีสุดท้ายในญี่ปุ่นด้วยเยอะที่สุด แทบจะทุกเช้า ทุกเย็น เป็นคนที่สอนให้ผมเข้าใจ (จากการกระทำ) ว่า “การเป็นผู้ไม่รู้” มันเป็นยังไง เพราะว่าเจมส์เป็นคนที่ “ไม่รู้” ตลอดเวลา และต้องการความช่วยเหลือจากเราในเรื่องที่แกไม่รู้ พอๆ กับคนอื่นอีกหลายคน (เนื่องจากแกเป็นนักฟิสิกส์ และเขียนโปรแกรมไม่เก่งมากนัก) และยินดีที่จะมีคนช่วยแก ไม่ใช่คนที่ “รู้ทุกเรื่อง แตะต้องไม่ได้”

    เจมส์เป็น “เพื่อนคุยและเพื่อนคิด” ที่ดีที่สุดของผมคนหนึ่ง (นอกจาก Peter และ Hirokawa) ในช่วงเวลา 3 ปีสุดท้ายในญี่ปุ่น

ความทรงจำเหล่านี้ มันไม่ใช่ความทรงจำเรื่องวิชาการ หรือวิชาความรู้อะไรเลย ตรงกันข้าม มันเป็นสิ่งที่ทำให้ “ผมเป็นผม” ได้ถึงวันนี้ พวกคนที่สอนวิชาการ เน้นวิชาการ เอาไปสอบ เอาไป ฯลฯ น่ะเหรอ แปลกแฮะ ผมจำไม่ได้อ่ะ อาจเป็นเพราะว่าผมมีครูที่สอนให้ผมมีพฤติกรรมการศึกษาและหาประสบการณ์ที่ดี สอนให้ผมเป็นผม คนที่ศึกษาวิชาการต่างๆ และหาประสบการณ์ในเรื่องต่างๆ เอาเองได้ดีกว่ามีคนสอนเป็นไหนๆ ก็ได้มั้ง

น่าเสียดาย น่าเสียดาย น่าเสียดาย ที่ระบบการศึกษาบ้านเรามันพังพินาศ เราคิดแต่ว่าเด็กต้องรู้วิชาการ วิชาการ วิชาการ แข่งขันกันด้วยการสอบอย่างเอาเป็นเอาตาย คนคิดวิชาการทั้งหลายพยายามยัดเยียดความรู้ต่างๆ ให้เด็กตั้งแต่เด็กเกินไป พ่อแม่เห็นลูกเป็นถ้วยรางวัลมากขึ้น กวดวิชาเน้นผลลัพธ์ทางการสอบมีมากขึ้นและมากขึ้น

คำว่า “ครู” หายไป กลายเป็น “อาจารย์” … เป็นผู้รู้ (โดยตำแหน่งอาชีพ) ที่เถียงไม่ได้ ต้องเคารพเชื่อฟัง (เพียงเพราะตำแหน่งอาชีพ) มากขึ้น สอนแต่วิชาการ เอาแต่ความรู้ทางวิชาการ ถึงอาจารย์หลายคนจะเรียกตัวเองจนติดปากว่า “ครู” ก็เถอะ ด้วยความเคารพ ผมคิดเช่นนั้นไม่ได้เลย

“ครู” ที่เป็นแม่คนที่สอง เป็นพี่สาวแสนน่ารัก เป็นเพื่อนคุยเพื่อนคิด เป็นคนสอนและบ่มปรัชญาชีวิต …. กำลังเป็นสิ่งที่จางหายไปจากสังคม เลือนหายไปจากระบบการศึกษา และกำลังจะเป็นแค่ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่ผ่านไป

Pencast วิชา​ Visual Simulation ครั้งที่ 4

ก่อนอื่นต้องขอชมน้องๆ หลายคนก่อนว่า ทำการบ้านครั้งที่แล้วได้ดีมากเลยครับ

เนื้อหาคราวนี้หลักๆ เป็นการเชื่อมโยงเนื้อหาคราวที่แล้ว (1D Dynamical System; Logistic Equation) กับเรื่องที่นักศึกษาสาขา animation คุ้นเคย นั่นก็คือ การกำหนดค่าการเคลื่อนไหวต่างๆ ให้กับ animation ก็หวังว่าจะทำให้หลายๆ คนเข้าใจบทบาทของ Dynamical system simulation กับการประยุกต์ใช้งานในเรื่อง animation มากขึ้นบ้าง

  1. ตอนที่ 1: Simple Dynamical System & Animation Control ขนาด 7.8 MB

  2. ตอนที่ 2: Simple Dynamical System & Animation Control (ต่อ) ขนาด 5.3 MB

  3. ตอนที่ 3: 2D Rule-based Dynamical System ขนาด 2.3 MB

  4. ตอนที่ 4: การบ้าน (นิดๆ หน่อยๆ) ขนาด 639 KB
    7.01 VS: Homework
    brought to you by Livescribe

ไฟล์เอกสาร (PDF) : VS_4_1.pdf, VS_4_2.pdf

หลังจากนั้น เนื่องจากน้องๆ หลายคนยังไม่เข้าใจการบ้านเท่าไหร่ ว่าจะต้องส่งอย่างไร ทำอะไร ต้องใส่อะไรบ้าง ฯลฯ (ถึงแม้ว่าผมจะให้ keyword “Cellular Automata” ในการ search google, wikipedia ซึ่งผมบอกว่า จะเอารูปจากเค้ามาเลยก็ได้ ไม่ผิด ก็ตาม) ซึ่งก็พอจะเข้าใจนักศึกษานะครับ ก็เลยต้องเปิด “เฉลย” การบ้านให้ดูก่อน ว่าให้น้องๆ ทำตามนี้แหละ เขียนส่งมาแค่นี้แหละ ซึ่งตรงนี้ไม่ได้บันทึกไว้ เพราะว่าเป็นการเปิดจากไฟล์ presentation ในเครื่อง (ผมไม่สามารถเขียนภาพผลการรัน Cellular Automata กฏ 110 ด้วยมือได้ครับ เกินความสามารถ) ก็เลยเอาภาพและ animation บางส่วน ที่สร้างจากการประยุกต์ใช้ Cellular Automata ดังๆ อย่าง Conway’s Game of Life ให้น้องๆ ดูไปด้วย

ก็ต้องขออภัยนะครับ ที่ในส่วนนั้นไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้

Pencast วิชา Visual Simulation ครั้งที่ 3

เริ่มใช้ pencast กับวิชาอื่นที่สอน นอกจาก User Interface บ้าง วิชานี้เป็นวิชา Visual Simulation สอนให้กับคณะ ICT ซึ่งเนื้อหาหลักเป็น “การสร้างแบบจำลอง” ที่เหมือนจริง ซึ่งผมอยากจะโฟกัสแค่การสร้าง Texture ของลวดลายต่างๆ ทั้งที่เป็นลวดลายธรรมชาติและไม่ธรรมชาติ และการจำลองสถานการณ์ต่างๆ ที่บางทีอาจจะไม่ใช่ Direct simulation แต่แค่ให้ได้ความรู้สึกเหมือนจริง ซึ่งก่อนอื่นจะต้องศึกษาเรื่อง Procedural Texture Generation และ “ธรรมชาติของ Patterns” เสียก่อน ทำให้วิชานี้อาจจะมี nature แปลกๆ หน่อยสำหรับสาขา animation เนื่องจากจะมีคณิตศาสตร์ปนๆ อยู่บ้่าง (แต่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะว่าการสร้าง texture หรือการศึกษา CGI; computer generated imaginary นี่ แทบจะเป็น math กันล้วนๆ ในเบื้องหลัง) ก่อนที่จะไปถึงเรื่อง Fractals ซึ่งเป็น “พระเอก” ของวิชา ต่อไป

สำหรับ Pencast ครั้งนี้จะ ตะกุกตะกักเล็กน้อย (เนื่องจากตัวเองก็ไม่ได้พูดเรื่องทำนองนี้มานานพอควร แล้วปกติจะพูดเรื่องทำนองนี้แต่กับพวกที่มี background เป็น math) และมีบางส่วนที่ไม่ได้ลงตรงนี้ เนื่องจากเปิดหน้าหนังสือลงใน visualizer และตัว pencast ไม่ได้บันทึกตรงนั้นไว้ให้ และการสนทนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างพักจะถูกตัดหมด และ 2 ครั้งก่อนหน้านี้ ไม่มีการบันทึกไว้ ดังนั้นหลายท่านที่มาฟัง อาจจะรู้สึกไม่ต่อเนื่อง หรือช่วงการ “Intro” มันหายไป ขออภัยด้วยครับ

ป.ล. สำหรับน้องคณะ ICT ที่ใช้งานครั้งแรกนะครับ ช่วย รอหน่อย นะครับ เพราะว่ามันต้องทำการ download ไฟล์เสียงทั้งหมดก่อน ไม่งั้นเสียงไม่มา ก็ขนาดไฟล์ตามที่ผมระบุนะครับ

  1. ตอนที่ 1: Procedural Generation Introduction ขนาด 7.5 MB

  2. ตอนที่ 2: Patterns & Textures ขนาด 8.9 MB

  3. ตอนที่ 3: 1D Texture generation with simple Dynamical Equation (& Glimpse of Fractals) ขนาด 4.3 MB

ไฟล์เอกสาร (PDF) ครับ: VS3_1.pdf, VS3_2.pdf, VS3_3.pdf

Pencast จากวิชา UI วันที่ 6/21

วันนี้มี 4 ตอนครับ โดยไอเดียเป็นการเกริ่นเรื่อง Application Design ในโลกที่เต็มไปด้วย Data และแนวคิดที่ว่าโปรแกรมควรออกแบบเพื่อ maximize ความสามารถในการบริหารจัดการข้อมูล/สารสนเทศ … อ่อ แล้วครั้งนี้เสียงอาจจะแปลกๆ หน่อยนะครับ เพราะว่าใช้ไมโครโฟนครับ ปกติจะพูดดังๆ เอา แต่วันนี้ไม่ไหว เสียงค่อนข้างพัง พูดดังไม่ได้ เลยใช้ไมค์

  1. ตอนที่ 1: Data and UI Design (ไฟล์เสียง 6.1 MB และไฟล์ PDF UI_6_21_1.pdf)

  2. ตอนที่ 2: Metadata (ไฟล์เสียง 4.4 MB และไฟล์ PDF UI_6_21_2.pdf) เป็นเรื่อง surprise ผมมากพอสมควรเลยนะ ที่น้องๆ ปีสาม ไม่รู้จัก Metadata กัน หลายคนไม่เคยได้ยิน ไม่เป็นไร ก็สอนซะหน่อย เพราะว่านี่เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เราเล่นกับข้อมูลได้หลากหลายและสนุกเลย

  3. ตอนที่ 3: Applications and Data (ไฟล์เสียง 5.6 MB และไฟล์ PDF UI_6_21_3.pdf)

  4. ตอนที่ 4: Application and Data (QA) (ไฟล์เสียง 2.9 MB และไฟล์ PDF UI_6_21_4.pdf) พอดีมีน้องคนนึงถามว่า “แล้วการเปลี่ยนจาก Application แบบเปล่าๆ เป็น Application+Data ต้องทำไงบ้าง” คิดว่ามีประเด็นดีะน ก็เลยพูดยาวหน่อย

น้องๆ ที่ลงวิชานี้อย่าลืมการบ้านนะครับ keyword ในการตั้ง subject ของ e-mail คือ app+data ครับ และช่วยๆ รบกวนทำการบ้านให้เหมือนกับว่าอยากจะผ่านวิชาหน่อยนะครับ

Pencast: Digital Camera Image Sensor 101

ตั้งแต่งาน WWDC มีเสียงเรียกร้องให้ผมอธิบายเรื่อง Backside Illuminated Sensor หลายเสียง และเนื่องจากตัวเองก็เคยเขียนเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว เลยจัดเต็มเลยดีกว่า ไม่เฉพาะกับ Backside Illuminated ล่ะ ก็พบกับ Pencast ความยาวประมาณ 9 นาทีครึ่งตอนนี้ได้ครับ

ป.ล. ขนาดไฟล์เสียงตอนนี้คือ 1.9 MB นะครับ น่าจะโหลดได้เร็วกว่าของตอนที่ผมบันทึกจากการสอนในห้องเรียนเยอะ แต่ก็เหมือนเดิมนะครับ รอโหลดนิดนึง

ส่วนนี่ก็เช่นเดิมครับ PDF ที่ export มา:
6.16.Digital_Image_Sensor_101.pdf

Pencast จากที่สอนวิชา UI วันที่ 6/14

Pencast ข้างล่าง 3 อันนี้ เป็นการบันทึกสดจากการสอนวิชา User Interface Design และ Human-Computer Interaction ครั้งที่ 3 (สองครั้งแรก ไม่มีการบันทึก เพราะยังไม่มีของเล่น แต่ว่าเนื้อหาจะยังคงไม่มีอะไรมากมายนัก และส่วนหนึ่งก็ได้พูดถึงซ้ำในวันนี้)

เนื้อหาคร่าวๆ ในวิชานี้ ผมไม่ได้ต้องการเพียงแค่ว่าหลักการในการออกแบบ User Interface เท่านั้น แต่จะรวมถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์ ระบบ ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บ requirement เพื่อให้ได้มาซึ่ง User Experience (UX​) ที่ดี และการนำความรู้เรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักการ 80:20 หลักการทำงานของสมองเพื่อให้ได้มาซึ่ง creativity การสร้าง innovation การศึกษาและระบุตลาดของซอฟต์แวร์ และความสร้างความสามารถในการแข่งขันโดยให้ User Interface, User Experience ที่เหนือกว่า เรื่องต่างๆ จาก Game Theory (เช่น Prisoner’s Dilemma) เป็นต้น

เนื้อหาด้านล่างนี้ แบ่งเป็น 3 ส่วน ตามที่ผม lecture ซึ่งในส่วนที่ 2 เป็นส่วนที่ผมนึกออกระหว่างสอน ว่าน่าจะพูดถึง น.ศ. จะได้ทราบบ้าง ว่าสมองทำงานอย่างไร ไอเดียต่างๆ ซึ่งเป็นนวัตกรรมได้ มันจะมาจากไหน ก็เลยสอนสดๆ เลย โดยแต่ละส่วนนั้น ขั้นด้วย discussion ที่ไม่ได้บันทึกไว้ ซึ่ง น.ศ. ที่ไม่ได้มาเรียน ก็น่าเสียดายแทนด้วย แต่ไม่มีอะไรมากหรอกครับ เพราะว่าส่วนมากก็เป็นเกร็ดเล็กน้อยเสียมากกว่า

ป.ล. เสียงอาจจะมาช้านะครับ อาจจะต้องรอมัน stream เสียงนิดนึง ส่วนภาพคงไม่มีปัญหา เพราะจากที่สังเกต ทาง Livescribe ใช้วิธีการสร้างจาก coordinate data (x, y, t) ส่วนเสียงนี่เป็น audio streaming ธรรมดา

หมายเหตุ มีการแจ้งว่า กด play บนนี้แล้วเล่นไม่ได้ ไปเล่นบนหน้าเว็บของ livescribe เองก็ไม่มีเสียง …​ ผมเข้าใจว่าพอกด play ไปแล้ว มันจะเริ่ม download ไฟล์เสียงครับ ซึ่งจะใช้เวลาหน่อย ในกรณีที่ไฟล์เสียงมันใหญ่ การ streaming ของเสียงอาจจะไม่ดีพอครับ คิดว่าใช้การ download ทั้งไฟล์ ขออภัยในความไม่สะดวกครับ จะติดต่อกับทาง livescribe เพื่อบอกปัญหานี้ต่อไปครับ …. กด play แล้วรบกวน “อดทนรอ” หน่อยนะครับ

ส่วนนี่คือ PDF ที่ export มาจากที่เขียนครับครับ

หวังว่าคงเป็นประโยชน์นะครับ ฟังเล่นเพลินๆ ละกันนะครับ

Pencast: 80/20 & IT ตอนที่ 1

กฏ 80:20 หรือ Pareto’s Principle เป็นเรื่องที่ผมใช้งานค่อนข้างเยอะครับ และต้องอธิบายซ้ำไปซ้ำมาค่อนข้างบ่อยเลย ในแทบทุกคลาสที่ผมสอน กับแทบทุกคนที่ผมคุยด้วย จะต้องมีเรื่องนี้อยู่ด้วยเกือบจะเสมอ ก็เลยคิดว่า น่าจะทำ slideshare หรือว่า video ลง youtube เอาไว้อ้างอิงทีเดียวเลย

แต่ว่าพอดีเร็วๆ นี้ผมได้ของเล่นใหม่มา คือ Pulse Smartpen ของ Livescribe ซึ่งทำ “Pencast” ได้่ คิดว่าเจ๋งดี เลยลองซะหน่อย ถ้าเป็นไงก็บอกด้วยนะครับ จะได้ทำต่อไปครับ

อันนี้เป็น Embedded Video (Flash) นะครับ แล้วก็ดู Full-screen ได้ (ถ้าไม่ดู คงจะอ่านไม่ออก) และจะเป็นการ trace การเขียนคู่ไปกับการพูดเรื่อยๆ ส่วนไฟล์จริง upload ไว้ที่ Livescribe.com ครับ … อ่อ และขออภัยเรื่องเสียงนะครับ ยังตะกุกตะกักอยู่บ้าง เขินๆ น่ะ (และอดนอนด้วย ฮาๆ กันไป)

ป.ล. มัน fully-interactive นะครับ คือ คลิกตรงไหน มันจะเริ่มพูดที่ตรงนั้น

ป.ล.2 อีกอย่าง ผมลายมือห่วยครับ –‘

80:20 and IT #1
brought to you by Livescribe


ไฟล์ PDF ตามที่เขียนครับ
80-20-and-IT-1.pdf

You *ARE* “The Presenter”

เป็นเรื่องที่ผมอยากจะเขียนถึงเป็นที่สุด ใน blog ก่อนหน้านี้ (สอน Presentation โครงการ SSME Fast Track) แต่คิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จนน่าจะเขียนแยกออกมาสักตอนมากกว่า และนี่คือสิ่งที่ผมเห็นว่า “ผู้นำเสนอหลายคนลืมไปอย่างน่าเสียดาย” นั่นก็คือ

“You *ARE* The Presenter”


presenter.004.png

ใช่ครับ ในการนำเสนอ *คุณ* คือ ผู้นำเสนอ คุณคือสตาร์ของงาน การลืมเรื่องนี้ เป็นเรื่องใหญ่ขนาดที่ผมถือว่าเป็น The #0 Common Mistake เลยทีเดียว (มันยิ่งกว่า #1 หรือ all words on slide ซะอีก) ทำไมหรือ?

  • หลายคนยอมให้ slide ของ presentation ต่างๆ เป็นดาวเด่นของงาน สายตาและความสนใจของผู้ฟัง อยู่บน slide ที่คุณใช้ (อ่าน) ไม่ได้สนใจคุณเลย หลายอย่างที่พูด ซึ่งอาจจะมีเกร็ดอะไรนอก slide อยู่บ้าง หรืออยู่มาก มันจะหายไป ซึ่งทางแก้ก็คือ ใช้ All-Words-on-Slide และ Lots-of-Bullets
  • แต่พอทำเช่นนั้น คุณก็จะไม่มีความเป็นตัวของตัวเองเท่าไหร่ จะถูกจำกัดมากเกินไปกับการพูดตามสิ่งที่อยู่บน slide และผู้ฟังของคุณก็ไม่รู้จะโฟกัสที่ไหนดี ระหว่างฟังคุณ กับอ่านตาม ซึ่งทางแก้ก็คือ คุณก็ต้องพูดตาม slide ไปเรื่อยๆ คนฟังจะได้ไม่หลงหรือสับสน
  • แต่พอทำแบบนั้น ก็เท่ากับไม่โฟกัสกับความเป็นตัวของตัวเอง คิดแต่เอาเนื้อหาจากหนังสือ เนื้อหาวิชาการจากตำรา จากเว็บ หรืออะไรต่อมิอะไรมานำเสนอ มาใส่ไป แล้วมันจะเป็น Story ที่ Simple, Convincing, Concrete, Credible ได้ยังไง? แล้วคุณจะมีอารมณ์ร่วมกับมันมั้ย?
  • ที่สำคัญ คุณไม่มีทางมี eye-contact หรือ expressive expression ต่างๆ ได้อย่างมากพอ

เอาแค่นี้ ก็จบแล้ว


presenter2.020.png