กิจกรรมของ SIGMA Lab (ใครสนใจเชิญ!)

โปรโมทซะหน่อย

นอกจาก SIGMA Research Lab (โครงการ Silpakorn Digital Content City, สถาบันวิจัยและพัฒนา ม. ศิลปากร นครปฐม) ที่ผมกับน้องๆ ผู้ช่วยทั้งหลาย ทำงานอยู่ จะทำงานวิจัยและพัฒนาระบบ Digital Content ต่างๆ จัดกิจกรรม LO & KM และงานทาง Multimedia, Computer Simulation (Visual และ Scientific), HPC, Web application/services ฯลฯ แล้ว เรายังมีกิจกรรมบางอย่างด้วย คร่าวๆ ก็ดังนี้นะครับ

  • วันจันทร์ (18:00 ~ ) : Movies Day

    เรียนรู้จากภาพยนต์ เลือกหนังมาดูกัน แล้วช่วยกันวิจารณ์ หาข้อคิดต่างๆ หรือว่าทฤษฎีต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในหนัง หรือว่าแม้แต่จับผิดหนังจากข้อมูล factual ต่างๆ และ logic ต่างๆ

  • วันพุธ (18:00 ~ ) : Programming Day

    ฝึกเขียนโปรแกรมในหลากหลายภาษา เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเรียกว่าเป็น classic เพื่อฝึกทักษะทั่วไปทาง Algorithmic Problem Solving บางทีก็จะใช้โจทย์จาก Online Judge และ Programming Contest ต่างๆ

  • วันศุกร์ (18:00 ~ ) : Seminar

    ที่ทำกันมาตั้งแต่ตั้ง lab ใหม่ๆ เมื่อ 2 ปีก่อนไม่ได้เว้นว่าง ส่วนมากจะเป็น work progress และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งตอนนี้ฤดูกาลของการ present research paper ในวิชา Research Methodologies ก็ใกล้จบลงแล้ว ช่วงเวลาของการทำ project จบจริงๆ ก็มาถึงแล้วด้วย คราวนี้จะหนักเรื่อง Work progress ล่ะ

  • วันอาทิตย์ (vary) : Journal Seminar

    (อันนี้กำลังคิดอยู่ว่าจะทำ ยังไม่แน่ใจ) อาจารย์ นักวิจัย (พวกที่จบแล้ว) ผลัดกันเอา paper งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง มาสนทนากัน

ใครที่อยากจะมาร่วมงานเหล่านี้ด้วย ก็ยินดีต้อนรับนะครับ ไม่ว่าจะเป็นศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบัน ผู้สนใจต่างๆ หรือว่าแม้แต่น้องๆ นักศึกษาต่างคณะ ต่างสถาบัน ที่นี่เราไม่มีกำแพงเรื่องสถาบัน ไม่มีหมวก ไม่มีหัวโขน ส่วนจะมาร่วมงานวิจัย/พัฒนาด้วยกันหรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องของอนาคต รู้จักกันไว้ก่อนก็ดี บางทีก็เข้ามานั่งทำงานเล่นได้นะ มีพี่ๆ ที่อยากให้คำปรึกษาเรื่อง coding หรือว่า program design หลายคนเลย (ณ ปัจจุบันก็โดยเฉพาะ Web applications/services)

Slide งาน Blognone Tech Day 3.0

เหมือนจะมี request พอสมควร ว่าอยากได้ slide ของวิทยากรจากงาน Blognone Tech Day 3.0 เก็บไว้ เราก็เลยจัดให้

ทำเป็น PDF นะครับ (2.3 MB) หน้าละ 2 slides เพราะว่า slide ผมมันไม่มีตัวหนังสือมากอยู่แล้ว มีแต่รูป คิดว่าขนาดนี้ก็ยังเห็นชัดอยู่แหละ

Blognone Tech Day 3.0

ก็ผ่านไปแล้วนะครับ สำหรับงาน Blognone Tech Day (BTD) 3.0 ซึ่งคราวนี้ผมโดน mk ลากไปเป็นวิทยากรด้วย (ซึ่งทำให้ mk ต้องมาพูดใช้หนี้ที่ศิลปากรวันถัดไป แล้วเราก็คุยกันต่อ)

ผมคงจะไม่เขียนสรุปอะไรว่าแต่ละคนพูดอะไรนะครับ เพราะว่าอันนั้นมีคนทำไว้แล้วเยอะ เช่นที่ sugree’s blog, Pok’s blogger, จ๊ะเอ๋อยากเล่า, ch_a_m_p’s blog ซึ่งจริงๆ ก็คงมีที่อื่นๆ อีก แต่ว่าเอาเป็นว่ามีคนสรุปไว้แล้วก็แล้วกัน ..​ งั้นผมขอเขียนความรู้สึกส่วนตัวจะดีกว่า

  • ได้เจอเพื่อนหลายคนที่นานๆ จะเจอกันที่ เช่น อ.มะนาว, พี่ sugree, bact’ (ที่น่าเสียดาย เหมือนจะอยู่ไม่นาน)
  • อ.มะนาว พาเพื่อนมาแนะนำให้รู้จักอีกคน ซึ่งพอเราเห็นกำลังนั่งอ่านหนังสือ Agile Web Dev with Rails ที่เราเคยเขียนด่าถึงด้วย ก็เลยให้ดูความแข็งแกร่งของหนังสือเล่มนั้นหน่อย ว่ามันเกรียนเทพแค่ไหน … คนที่เคยอ่านลองไปหาหน้าที่บอกวิธีการติดตั้ง Ruby บน Mac ดูนะครับ จะเห็นคนเขียนเกรียนถึงโปรแกรม DAVE (ซึ่งจริงๆ มันก็มีจริงๆ อ่ะนะ แต่ว่าไม่เกี่ยวกับผมนะ) …. แถจริงๆ เพราะว่าคนเขียนหนังสือต้นฉบับเค้าชื่อ Dave Thomas อ่ะนะ มันก็เลยมี prompt ชื่อ dave มาด้วย แบบว่า
    dave> some_command_here ...
    

    นะ เกรียนสุดๆ จริงๆ

  • ได้คุยกันเรื่อง ฮาๆ หลายเรื่องที่ถ้าไปคุยกันข้างนอกก๊วนที่มา (แม้แต่จะไปคุยในภาควิชาคอมพ์ หรือว่าคนทำงาน IT ก็เถอะ) อาจจะมีหน้างงๆ กันเยอะ ไม่ฮา ไม่ขำ เพราะว่ามันอาจจะ geek เกินไป
  • apirak มาบอกหลังไมค์ ว่าตอนที่ผมถาม นี่น่ากลัวโคตรๆ เลย หรือว่าผมมีความสามารถพิเศษในการกดดันชาวบ้านก็ไม่รู้แฮ​ะ ทั้งๆ ที่เราก็คิดว่าเราถามธรรมดานะ
  • น่าเสียดายที่มีเวลาให้ผมพูดน้อยไปหน่อย เลยไม่มีเวลาเล่นเกมสอนทำอาหาร (อะไรเนี่ย ..) ทั้งๆ ที่เรียกน้อง Ford Antitrust ออกไปหน้าเวทีแล้วนะ แต่ว่าเนื่องจากเวลาน้อย + คนฟังยังเขินๆ กันอยู่ด้วย ไม่ค่อยจะเล่นกับเราเท่าไหร่ น้อง Ford เลยออกไปเก้อเลย
  • น่าเสียดาย น่าเสียดาย เพราะว่าเกมนี้จะฮามาก แล้วก็จะเข้าใจเรื่อง short-term memory กับเรื่องการเรียนรู้และการท่องจำขึ้นอีกเยอะมาก ถ้าคิดว่าผมพูดเนี่ย ฮาแล้ว จี้ใจดำแล้ว เกมนี้จะเจ๋งกว่านั้นอีก คราวนี้รบกวนช่วยเล่นนิดนะคร้าบบบบ
  • แต่ว่าไปงานแบบนี้แล้ว บอกตามตรงว่า ใจชื้น เหมือนกับว่างาน Blognone เนี่ย เป็นน้ำหล่อเลี้ยงใจที่มันห่อเหี่ยวมานานของผมได้อย่างไม่น่าเชื่อ
  • เห็นน้องที่ชนะ Imagine Cup เห็น (video) โปรแกรมที่เค้าทำ เห็นการใส่ใจกับทุกรายละเอียด การสร้าง WOW factor การคำนึงถึงผู้ด้อยโอกาสและพยายามประยุกต์เทคโนโลยีมาช่วยได้อย่างเจ๋ง ….. ผมอยากให้น้องๆ กลุ่มนี้หรือว่ากลุ่มอื่นๆ ที่มีความสามารถ มีโอกาสทำอะไรเพื่อสังคมจริงๆ จังๆ เมื่อเรียนจบบ้างจัง แทนที่จะเข้าไปอยู่ในบริษัทใหญ่ๆ โตๆ บางบริษัท เงินเดือนสูงๆ แต่ว่าสังคมไม่ได้อะไร (ถ้าได้ทั้งสองอย่างก็เยี่ยมครับ win-win)
  • เห็นน้องจากกลุ่ม Ubuntu Club ที่ทำให้ผมอ้าปากค้าง … เนี่ยมันเด็ก ม.ต้น นะครับพี่น้อง แหม ตอนที่ผม ม.ต้น ผมยังทำอะไรไม่รู้อยู่เลย เด็กส่วนมากที่ผมเห็นที่ศิลปากร ยังไม่ได้ “สนใจ” อะไรแบบนี้เลย น้องครับ ผมขอบอกว่า น้องเยี่ยมมาก ผมแทบไม่ได้ปรบมือให้ใครด้วยความเต็มใจอย่างยิ่งยวด และรู้สึกชื้นสุดๆ ในใจมานานแล้ว
  • ผมเห็นว่าประเทศนี้ยังมีอนาคตครับ อย่างที่พี่ sugree เขียนไว้ใน blog เรื่องงาน BTD ว่าประเทศไทยมันคือ The Matrix นี่หว่า แล้ว Red Pill มันอยู่ไหน มีแค่ไม่กี่คนที่หลุดพ้นออกจากระบบแล้วกลายเป็นคนกำหนดอะไรบางอย่างในช่วงบางช่วง
  • ผมเชื่อว่ามีเยอะครับ คนที่อยู่ในระบบ แล้ว so dependent on the system และ/หรือ not ready to be unplugged แต่ว่าผมก็เชื่อเช่นกัน ว่าบางคนนะ ที่เค้ารู้สึกว่า there’s something wrong with the system แต่ว่าเค้าบอกไม่ได้ว่าอะไร เค้าบอกไม่ได้ … เราต้องค้นหาเค้า ค้นหาคนเหล่านั้น spend sometime searching The Matrix หาคนที่เริ่มรู้สึกเช่นนั้น ….. พาให้เค้าเห็นโลกอีกด้านหนึ่งของรั้ว เค้าอาจจะหลุดพ้นออกมาก็ได้

สรุปว่า เสียดายครับ ถ้างานนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย (ส่่วนหนึ่งอาจจะเป็น mk จะไปเรียนต่อ) ถ้าครั้งต่อไป ผมอยากให้ไปจัดที่อื่นบ้าง (ซึ่งก็คุยกับ mk ไว้แล้ว) ถ้ายังไงที่ ศิลปากร ตลิ่งชัน อาจจะเป็นอีก option หนึ่ีงก็ได้นะครับ (ผมเสนอไว้ก่อน) อาจจะต้องมีค่าเช่าที่ แต่ว่าก็คงจะจัดการได้ไม่ยากเย็นเท่าไหร่ เผื่อว่าเด็กที่อื่น จะได้มีโอกาสได้เข้ามาฟังและเปิดโลกของตัวเองบ้าง

ซื้อคอมพ์ให้เด็กหัดเขียนโปรแกรม

ตอนนี้เริ่มต้องกลับมาสอนเด็กเขียนโปรแกรมมากขึ้น หลังจากที่ไม่ได้สอน/ติวโปรแกรมมิ่งจริงๆ จังๆ มานาน (ครั้งสุดท้ายนี่ก็ตอนกลับมาใหม่ๆ เลยล่ะ ตอนที่ได้เด็กกลุ่มหนึ่งซึ่งปัจจุบันกลายเป็นผู้ช่วยวิจัยของเราเนี่ยแหละ)

ว่าแล้วก็ไปเดินหาซื้อเครื่อง Desktop ที่มันไม่ต้อง high profile มากเท่าไหร่ มี spec พอที่จะลง Linux ได้ (ไม่ต้องใหม่มากหรอก เพราะว่า distro ใหม่ๆ หลายตัวก็กินเครื่องเอาเรื่องเหมือนกันน่ะแหละ) …. ก็ไปที่ Fortune นะ สรุปว่าได้เครื่องมือสองเก่าของญี่ปุ่น (ที่เค้าโละกันทีละทั้งองค์กร) มา 4 เครื่อง spec เบาะๆ แค่ Pentium 4 1.6, RAM 256, HDD 40 GB มี keyboard, mouse, monitor ให้หมด เครื่องละ 6,500 เอง ถูกมากเลย

สรุปว่าได้เครื่องมาให้เด็กๆ หัดเขียนโปรแกรมกัน 4 เครื่อง ด้วยราคาที่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ซื้อไอ้พวกนี้เครื่องเดียวยังไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

พอได้มา ก็เริ่มลง OS ล่ะ ก็ตอนแรกคิดว่าจะลง Ubuntu Linux แต่ว่าไม่ไหวแฮะ เพราะว่ามีแต่ 7.04 แล้วก็ค่อนข้างจะหน่วงเครื่องด้วย (ยิ่ง spec แค่นั้นด้วย) และอีกอย่างก็มีปัญหาที่ network ที่สถาบันวิจัยที่ทำงานอยู่มันมีแต่ wireless แล้วเวลาอยากจะลงโปรแกรมอะไรก็ต้อง apt-get เอาผ่าน online repository เนี่ยสิเรื่องใหญ่

ว่าแล้วก็เอาแกะเอา Fedora Core 4 มาลง ลง development environment พวก compiler พวก editor อะไรพวกนี้ไปเรียบร้อย ก็พร้อมใช้งานล่ะ การใช้งานก็ smooth มากๆ เลยด้วย จริงๆ เราก็อยากจะลงเครื่องละ OS นะ เช่นอันนึงลง FreeBSD อันนึงลง GNUstep อะไรทำนองนี้ แต่ว่าขี้เกียจอ่ะ

ก็มีเด็กๆ มาหาอยู่บ้างล่ะนะ แต่ว่าเวลาโดนจับให้ทำโปรแกรมเนี่ย น้องๆ พวกนี้ยังห่วยอย่างเหลือเชื่อ ยังพยายามท่อง code กันมากไปนิดนึง … แต่ว่าไม่เป็นไรครับ ค่อยๆ เขียนกันไป เขียนเยอะไว้มันได้เปรียบอยู่แล้ว ถึงจะมีบางช่วงที่จะลอก code ที่คนอื่นเขียนไว้บ้างเพื่อเป็นตัวอย่างและเพื่อให้มือมันชินกับการเขียน code ก็เถอะนะ ไม่เป็นไรๆ ขอให้ได้ประสบการณ์มากขึ้นก็พอล่ะ

อ่อ สำหรับน้องๆ ปีแรกๆ นะครับ อย่ารอและอย่าคิดว่าพอเรียนไปปีสูงแล้วเดี๋ยวจะเก่งขึ้นเองนะ ถ้าคิดแต่ว่าจะรอแบบนั้นมันจะไม่มีทางเก่งขึ้นหรอกครับ ผมก็สอนพี่ๆ คุณในปีสูงๆ ทราบดีว่าส่วนมากทำอะไรได้ดีแค่ไหน และถ้าคุณไม่พยายามเสียแต่วันนี้ มันจะ backfire คุณเองนะครับ เมื่อคุณต้องไปทำ project ไปทำงาน ไปทำอะไรก็แล้วแต่ที่มันต้องใช้พื้นฐาน

จริงๆ ยังอยากจะบ่นนักศึกษาที่ผมไปฟัง present ในวิชา research methodology อีกนะ แต่ว่าเอาไว้ก่อน ไว้ผ่านงาน blognone ก่อนและค่อยว่ากัน ตอนนี้ขอเก็บพลังงานนี้ไว้ก่อน

การ present งาน (paper) ชาวบ้าน

มีอย่างนึงที่การศึกษาบ้านเราชอบ(ให้)ทำกัน คือ การหา paper งานวิจัยใหม่ๆ ที่ได้รับการตีิพิมพ์ใน journal หรือว่า proceeding ของ conference ดังๆ แล้วเอามา present ให้คนอื่นฟัง ถ้าเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรหรือว่างานวิจัย ก็มักจะเรียกกันว่า Journal Club แต่ว่าก็มักมีในวิชาทำนอง Research Methodology เหมือนกัน ซึ่งโดยมากนักศึกษาก็จะหา paper ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับงานที่ตัวเองต้องทำเป็น thesis/project จบ

จากประสบการณ์ในการนั่งฟังมาหลายปี หลายครั้ง ก็มีข้อคิดฝากถึงน้องๆ ทุกคนดังนี้

  • การ present paper งานคนอื่น ไม่ใช่การมานั่งแปล paper ให้ฟังนะครับ การแปลคำๆ หนึ่งเป็นภาษาไทยได้ ไม่ได้แปลว่าเรา “เข้าใจ” ในคำๆ นั้น เช่นคำว่า evolution แปลว่า วิวัฒนาการ แต่ว่า วิวัฒนาการ มันหมายถึงอะไร? เช่นคำว่า parallel processing แปลว่าการประมวลผลแบบขนาน แต่ว่าแล้วมันหมายความว่ายังไงล่ะ? ตรงนี้หลายคนตกหล่นไปมากๆ ไม่ได้ทำความเข้าใจกับสิ่งที่ตัวเองอ่านให้ดีๆ
  • หลายคนพออ่านไปเจอตรงที่ยาก อ่านไม่เข้าใจ ซึ่งส่วนมากจะเป็นส่วนที่เป็น mathematical description/model ซึ่งไอ้ตรงนี้แหละ มันมักจะเป็น “เนื้อ” ของงานจริงๆ เพราะว่ามันมักจะอธิบายรายละเอียดของการทำงาน assumption และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ทำให้สิ่งที่เค้าเขียนใน paper มันทำงานได้ พอข้ามตรงนี้ไป ก็เลยไม่รู้เรื่องจริงๆ แล้วก็มาทำเนียนๆ ข้ามๆ ไปในตอน present ซึ่งจริงๆ ไม่ค่อยดีเท่าไหร่หรอกนะ
  • ไม่มีการอ่าน paper ในเชิง critique นั่นคือ วิเคราะห์ความมีเหตุมีผล ความเหมาะสมของขั้นตอนต่างๆ ที่ผู้วิจัยเขาได้อธิบายมา และความเหมาะสมในการนำมาประยุกต์ต่อไป หลายอย่างที่เขียนมาใน paper หลายฉบับ มันก็ไม่ได้ make sense ในทุก context หรอกนะ หลายวิธีการมัน place assumption บางอย่างที่มัน specific มากกับลักษณะข้อมูลบางอย่าง หรือว่าบางอย่างก็เหมาเอาเลยโดยไร้เหตุผลก็มี แบบนี้ถ้าเราอ่านและศึกษาโดยไม่มีสายตาของการ critique แล้วเนี่ย มันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา
  • แทบทุกคน พอถามอะไรที่มันเป็นพื้น เป็นฐาน ของแนวคิดของวิธีการที่ paper เขียนถึง กลับอ้างง่ายๆ ว่า “มันไม่มีใน paper” หรือว่า “paper เค้าไม่ได้เขียนถึง” ทั้งๆ ที่จริงๆ ก็มี reference ถึงไว้เรียบร้อยแล้ว หรือว่าเป็นพื้นฐานที่หาอ่านที่ไหนก็ได้ (โดยมากมักจะเป็นตำราระดับ undergrad text ทั่วไป) รบกวนทำการบ้านซักนิดนึงนะ
  • เวลาที่โดนถามอะไรนะ อย่าใช้ความ “นิ่ง” ในการเอาตัวรอด การพยายามนิ่ง ไม่ตอบไปเรื่อยๆ ignore ไปเรื่อยๆ รอจนกว่าคนจะหมดความอดทนหรือว่ารอให้เวลาหมดแล้วจะผ่านไปเอง เพื่อเอาตัวรอดไปเป็นครั้งๆ ไม่เคยช่วยใครในระยะยาว บางทีการเดาคำตอบ หรือว่าการพยายามคิด และโยนคำตอบที่มันไม่รู้ว่าถูกหรือเปล่าหรอก แต่ว่าผ่านการคิดอย่างมีเหตุผลมาแล้ว เนี่ย มันดีกว่าตั้งเยอะ เดี๋ยวพวกอาจารย์เค้าก็ช่วยตบให้มันเข้ารูปเข้ารอยเองน่ะแหละ ยิ่ง “นิ่ง” ยิ่งพยายามไม่ตอบ ยิ่งแย่นะน้องนะ
  • Slide ที่เต็มไปด้วย text แล้วมายืนอ่านให้ฟัง (โดยเฉพาะพวกที่เสียง monotone) แล้วก็พยายามทำให้มันน่ารำคาญมากขึ้นด้วยลูกเล่นสารพัด หรือว่า unnecessary graphics/animation/transition เนี่ย รบกวนช่วยเลิกซะทีเถอะนะ
  • ทิ้งท้ายอีกครั้งเถอะ ช่วยๆ ดู list ใน reference ด้วย อันไหนท่าทางสำคัญช่วยไปหามาอ่านด้วยจะดีมากเลยนะ น่าจะช่วยได้เยอะ แล้วก็อย่าเลี่ยงส่วนที่ยากของ paper เลยนะ ขอร้องเถอะ
  • ที่สำคัญ อย่ามั่ว

ด้วยความปรารถนาดีถึงทุกคนที่ต้อง present งานชาวบ้าน

Lecture ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

โดนเชิญมาพูดแบบกระชั้่นมาก ฉุกละหุกมาก แต่ว่าก็ทำให้เรามีโอกาสได้ทำ 2 อย่าง คือ

  • มาภูเก็ต ถึงจะไม่มีเวลาเที่ยวก็เถอะ ได้เห็นบ้านเมืองบ้าง ได้เห็นโน่นนี่บ้าง เห็นการ recover เมืองจากภาพที่เราเคยเห็นจาก Tsunami tragedy แล้วก็ดูความเป็นไปได้ที่จะมาเที่ยวในอนาคต
  • ได้บินสายการบิน low-cost ภายในประเทศครั้งแรก อยากรู้มานานแล้วว่ามันเป็นยังไง

สรุปว่า อืมมม บ้านเมืองเขาสวยดีนะ แถวหาดป่าตองถึงจะแออัดยัดเยียดไปหน่อย แต่ว่าก็ยังดีกว่าพัทยาเยอะ ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่า แต่ว่่าอย่างน้อยก็ยังสะอาดกว่าน่ะแหละ ส่วนแถวมหาวิทยาลัยราชภัฏ นี่ยังกะเป็นคนละโลกกันเลย แถวนั้นเงียบและมืดมากพอควรเลย

ส่วนเรื่องที่ถูกเชิญมาพูดน่ะ พอดีเค้าให้รายละเอียดมาค่อนข้างน้อย หัวข้อมีแค่ “Macintosh” เท่านั้นเอง เราเลยต้องเล่นเกมเดาใจว่าเค้าอยากให้เราพูดเรื่องอะไร สรุปก็เลยพูดหัวข้อที่ว่า “Me, My work, My life, My Mac” ที่เป็นมุมมองของผม ในฐานะ Academic lecturer, Research scientist, และ Software developer ที่บังเอิญ พอดีเป็นผู้ใช้ Mac

รู้สึกว่าเด็กๆ ค่อนข้างจะชอบกันนะ ฮากันตรึม พวกอาจารย์เค้าก็ชอบกันนะ ถามกันหลายคน ว่าถ้าเราพูดเรื่องวิชาการซีเรียสๆ เนี่ย จะสนุกแบบนี้ได้หรือเปล่า อืมมม ก็คงต้องลองเชิญผมมาพูดเรื่องงานวิจัยล่ะนะ ไม่งั้นก็ไม่รู้เหมือนกัน

เท่าที่คุยกับอาจารย์เค้า รู้สึกว่าจะมีอาจารย์คนหนึ่งจบมาจาก MIT เสียด้วยสิ เห็นบอกว่าทำเรื่องเอา remote sensing ไปตรวจวัดค่าต่างๆ ในอากาศ เพื่อเอามาพยากรณ์อากาศ และได้ model ที่แม่นมาก ชักอยากจะรู้เหมือนกันว่าเค้าใช้ model อะไร เพราะว่าเราสนใจเรื่อง Mathematical models ของเรื่องพวกนี้มานานแล้ว และ Weather forecasting นี่ถือเป็น chaotic system ตัวหนึ่งที่น่าสนใจและ classic มากๆ ด้วย

สงสัยคงต้อง e-mail ไปคุยด้วยแฮะ อ่อ แล้วใครอยากจะเชิญผมไปพูด ติดต่อมาได้นะแต่ว่าพักหลังๆ อาจจะยุ่งนิดหน่อย

คณิตศาสตร์มัธยม

ก่อนอื่นเลย คงต้องเกริ่นก่อนว่าตอนนี้ที่กลุ่มวิจัยของผม (SIGMA Research Lab) มีการจัด seminar ทุกเย็นวันศุกร์ ใครสนใจเชิญด้วยความเต็มใจ แต่ว่าต้องมาที่ ม. ศิลปากร ทับแก้ว นะ โดยหลักการก็ให้พวกนักศึกษา+ตัวเองด้วย อ่าน paper/หนังสือ/บทความ/web แล้วก็เอามาวิเคราะห์ให้ฟังกันถ้วนๆ หน้า แล้วก็มี work progress สำหรับงานวิจัย/โปรเจคต่างๆ ที่ดำเนินอยู่

ทีนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเนี่ย มีเรื่องที่โดยส่วนตัวแล้วไม่ค่อยจะพอใจเท่าไหร่นะ คือพวกน้องๆ ส่วนมากเวลาอ่านหนังสือ อ่าน paper แล้วเจออะไรที่เป็น math ก็จะ “เลี่ยง” ด้วยการพูดแค่ว่า “สำหรับเรื่องนี้มีสูตรดังนี้” แล้วก็ผ่านไป พอเวลาถามรายละเอียดในสูตรที่ว่านั่น ก็ไม่เข้าใจ ตอบไม่ได้ เราก็ไม่ได้ถามอะไรมากมายล่ะนะ ก็แค่ถามตรงๆ ในสมการคณิตศาสตร์ หรือว่าโมเดลทางคณิตศาสตร์ทั้งหลายนั่นน่ะแหละ ว่ามันอธิบายอะไร มันพูดถึงอะไร

ไอ้ที่ทำให้ฟิวส์ขาด ก็คือ เราถามเรื่องเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ (Relation) และฟังค์ชัน (Function) ว่ามันรับ parameter อย่างไรและ return ค่ายังไง เขียนออกมาเป็นคณิตศาสตร์ได้หรือไม่ input ถ้ามันมีหลายๆ ตัว มันจะต้องอยู่ในรูปไหน มันจะ take มาจาก space ที่มีคุณสมบัติยังไง

พูดง่ายๆ ผมต้องการ “ผลคูณ cartesian” เช่น F: R x N -> N หรือว่า G: R x R -> R หรือว่าแม้แต่ H: A x B x C -> D ถ้าเขียนโปรแกรมกันเป็นก็คงจะทำนองว่า N F(R r, N n) แล้วก็ R G(R r1, R r2) ตามลำดับละนะ

ที่ shock เลยก็คือ เฮ้ย ทำไมมัน ไม่มีใครรู้จักผลคูณคาร์ทีเชียนวะ ผมจำได้ว่าสมัยผมเรียน มันอยู่ใน ม. 4 เทอม 1 เลยนะ ไอ้เรื่องพวกนี้ แล้วก็ไม่ใช่แค่นี้นะ ตั้งแต่ผมมาสอนที่นี่ ผมต้องทวนคณิตศาสตร์ระดับมัธยมให้ “นักศึกษาปริญญาตรี” ปี 3 ปี 4 ฟังกันบ่อยมาก แล้วพวกก็ชอบบอกว่า ผมถามยาก ถามลึก ถามเรื่อง advanced … แหม ถามว่า Logarithm คืออะไร หรือว่ามันสัมพันธ์กับ Exponential ตรงไหน เนี่ย มันยากมากเลยหรือยังไง

อ่อ ไม่พอ ยังมีน้อง ป.โท คนหนึ่งที่มา present ปาวๆ และพูดถึง Mixed Integer Nonlinear Programming แล้วก็ตอบ/อธิบายไม่ได้ว่า Linear Programming คืออะไร (สมัยผมเรียน มันอยู่ ม. 5 นะ ถ้าจำไม่ผิด) ซึ่งมันง่ายกว่า Nonlinear เยอะ แต่ว่าก็แนวๆ เดียวกัน (concept แบบหยาบๆ นะ)

เรื่องนั้นช่างมัน ผมก็เลยควักเงิน 2 พัน ให้นักศึกษาใน lab “ไปซื้อหนังสือเรียนคณิตศาสตร์ หลักสูตรปัจจุบัน ตั้งแต่ ม. 1-6 มาทุกเล่ม” แล้วก็ภายใน “สิ้นปี” ทุกคนใน lab ต้องทำข้อสอบ entrance ให้ได้เกิน 50 คะแนน! (โหดมาก…)

วันนี้มาถึง lab เห็นหนังสือพวกนี้กองอยู่ เลยเอามานั่งอ่าน … อ่านแล้วตกใจมาก

คณิตศาสตร์ ม. 1 มีพูดถึง Palindrome มีพูดถึง Fibonacci มีพูดถึงการหาจำนวนเฉพาะ (Prime number) ด้วยวิธีการ Sieve of Eratosthenes ม. 2 มีการเรียนเรื่อง Golden Ratio …. พอ ม. ปลายก็มีเรียนเรื่อง Graph Theory

ผมอยากจะบอกว่า ใจหาย นะ และรู้สึกสองจิตสองใจมาก ความรู้สึกตีกันอย่างบอกไม่ถูก ขอแยกประเด็นละกัน

  • + หนังสือระดับมัธยมต้น ทำได้ดีมากๆ เน้นการ “คำนวณ” ที่ “น้อยลง” เยอะ เพราะว่าปัจจุบันสิ่งที่ผมเห็นเกี่ยวกับความเข้าใจของคนทั่วไปคือ มีมุมมองที่ค่อนข้างผิด ว่า คณิตศาสตร์เป็นวิชาคำนวณ ว่าด้วยการคิดเลข ฯลฯ อะไรทำนองนั้น แต่ว่าไม่ค่อยจะคิดว่ามันเป็นมุมมองอีกมุมหนึ่ง เป็นภาษาอีกภาษาหนึ่ง ที่เอาไว้พูดถึงสิ่งต่างๆ อะไรก็ได้ ทั้งรอบตัวที่เป็นจริง ทั้งในจินตนาการ ตลอดจนความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านั้น หนังสือระดับ ม. ต้นนี่ เอาคณิตศาสตร์ออกมาสู่โลกจริงๆ ในฐานะสิ่งใกล้ตัวได้ดีมากเลย อันนี้ยกให้สองนิ้ว
  • แต่ว่าปัญหาคือ คนสอนจะสอนยากขึ้นหรือเปล่า มีคนที่ “เก่งพอ” จะสอนสิ่งที่เป็น abstract มากๆ อย่างคณิตศาสตร์ ให้เด็กเข้าใจว่ามันคืออะไรได้สักกี่คนเชียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคนสอน และการวัดผลของบ้านเรา ยังคงเน้นไปที่การท่องสูตรมาแทนตัวเลข คำนวณหาผลลัพธ์ออกมาแต่เพียงอย่างเดียว และคนสอนเคยแต่เรียนกันมาด้วยวิธีนี้เสียเป็นส่วนมาก
  • และถ้าเป็นอย่างนั้น มันจะเหมือนกับยิ่งยัดเยียดความรู้พวกนี้ให้เด็กเร็วเกินไป โดยปราศจากความเข้าใจที่แท้จริง หรือเปล่า น่าเสียดายแทนเด็กๆ ที่ได้เรียนเรื่องดีๆ มากมาย เพียงเพื่อที่จะลืมมัน สอบผ่านไปแล้วก็ wipe out memory ออกไปเสียแล้ว (เพราะว่าผมถาม นศ. ปีสูงๆ ถึงวิชาปีต่ำๆ ก็ไม่มีใครรู้เรื่อง ถามความรู้ ม.ต้น ม.ปลาย ก็ตายไปกับ cell สมองหมดแล้ว)
  • + ยังไงก็แล้วแต่ ผมก็ยังมีความรู้สึกว่า เมืองไทยเจริญขึ้นเยอะ นะ …. ถ้าเราสร้างความเข้าใจว่าเรียนไปทำไม ให้มันดีกว่านี้ ไม่ใช่เพื่อสอบผ่านไปยังระดับถัดไป ไม่ใช่เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ใช่เพื่อ ฯลฯ หลายอย่างที่ทำให้สุดท้ายเราก็มานั่งบอกตัวเองว่า “เรียนไปก็ไม่ได้ใช้” น้องๆ ที่เรียนเรื่องพวกนี้จะรู้บ้างหรือเปล่านะ ว่าสิ่งที่อยู่ในหนังสือของพวกเค้าเนี่ย ประโยชน์มันมากมายมหาศาลขนาดไหน ในการนำไปใช้จริงในโลกปัจจุบัน และเป็นต้นทุนทางปัญญาในการนำไปต่อยอด หรือว่าอย่างน้อยที่สุดก็เป็นสิ่งที่ทำให้เค้าแตกต่างจากคนอื่นในการเรียนระดับสูง มี head-start มากมาย

ผมคงจะขอใช้เวลาอ่านและย่อยหนังสือเรียนระดับ ม. ต้น+ปลาย ที่เพิ่งจะให้เด็กๆ ซื้อมาอีกสักวัน-สองวันล่ะครับ แต่ว่าเห็นแล้วค่อนข้างจะปลื้มพอสมควร ก็หวังว่าพอน้องๆ ใน lab และบรรดา advisee ของผมทั้งหลาย พอได้อ่านหนังสือพวกนี้แล้ว คงจะมาอ่านหนังสือในตู้หนังสือผม (ที่เป็นคณิตศาสตร์ซะเยอะ หรือว่าถึงจะเป็นหนังสืออื่น เช่น Economics, Biology, Computing Science ของผมมันก็มี model ทางคณิตศาสตร์และภาษาคณิตศาสตร์เต็มพรืดอยู่ดี) ได้มากขึ้นนะ …

khomkrit > รับมือไม่ไหวแล้ว “นักเรียนอาชีพ”

จาก blog ของอดีต advisee (khomkrit)

รับมือไม่ไหวแล้ว “นักเรียนอาชีพ” « khomkrit

ใครเป็นใครในนั้นผมไม่ค่อยจะสนล่ะ แต่ว่านี่เป็นเรื่องจริงเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการศึกษาที่พยายามจะพูดมานานแล้ว แต่ว่าพูดให้นักศึกษาฟังไปเท่าไหร่ ก็ไม่เห็นจะมีใครสนใจฟัง หรือว่าฟังแล้วไปยี่หระอะไรเท่าไหร่ หลายคนฟังสนุกๆ คิดว่าเราเอาคนโน้นคนนี้เรื่องโน้นเรื่องนี้ไปด่าให้ฟัง หลายคนฟังแล้วเกิด hurt ก็ไปด่าเราลับหลังว่าอาจารย์ทำแบบนี้ไม่ถูก ว่าเราโหดบ้างอะไรบ้าง จิปาถะ ฯลฯ

แต่ว่าผมเขียนอันนี้เพื่อยืนยันว่า สิ่งที่ khomkrit เขียนมาเป็นส่วนหนึ่งของความจริงของการศึกษาไทยในปัจจุบัน ความจริงที่ขม และเจ็บปวด จากมุมมองของผู้ให้การศึกษา และผู้ประกอบการ และนักวิชาการ ..​.

เปิดเทอม

เปิดเทอมใหม่แล้ว .. คงจะยุ่งกับเรื่องโน้นนี้ที่เกี่ยวๆ กับเรื่องสอนๆ กันอีกซักพัก อืมมม อย่างว่าแหละ อะไรๆ มันยังไม่ลงตัวเท่าไหร่ ไหนเลยจะเรื่องย้ายตารางสอน ไหนเลยจะเรื่องตารางสอบชนกัน ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษานะ คนสอนอย่างเราๆ ก็วุ่นกันไปด้วย

เทอมนี้ผมคิดว่าจะสอนไม่กี่ตัว แต่ว่าพอมานับจริงๆ เออ เยอะเหมือนกันแฮะ

  • Intro. to Artificial Intelligence ครึ่งหลัง จะเป็นพวก Evolutionary Computation นะ กับพวก tricks ในเกมต่างๆ
  • User Interface จริงๆ แล้วจะไปทาง HCI กับ Usability Design มากกว่า
  • Programming Platform and Environments เป็นวิชาที่ชื่อไม่สื่อที่สุดล่ะ คนเขียนหลักสูตรอยากจะให้สอนอะไรหว่า? IDE? หรือว่าพวก platform สำหรับพัฒนาโปรแกรมอย่าง .NET? อืมมม ไม่เอาล่ะ เราจะมองว่า Web as a Platform :-P
  • Information Technology for Forensic Science อันนี้ของ ปริญญาโทนิติวิทยาศาสตร์ ก็คงไม่มีอะไรมากนอกจากแนะนำ IT เบื้องต้นให้กับพวกคนที่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องพวกนี้เท่าไหร่ แล้วก็คงขายฝันเรื่อง application ที่อยากให้มีล่ะนะ
  • Visual Simulation อันนี้ของ ป.ตรี คณะ ICT …​ คงจะสอนเรื่องพวก modeling techniques แล้วก็ simulation ด้วย ทำไงให้มันเหมือนปรากฏการณ์และวัตถุทางธรรมชาติมากที่สุด อันนี้น่าจะเป็นของถนัดของผมด้วย

อืมมม เยอะเหมือนกันแฮะ

มีนักศึกษาถามว่า ปีนี้ไม่เปิด Computer Graphics เหรอ .. อืมมม ให้ผมแก้โง่ตัวเอง แล้วก็เปิดกาละที่หัวหน่อยนะ เพราะว่าผมคงจะสอนได้แค่แบบสมัย OpenGL 1.x เท่านั้นแหละ (ก็คือ อย่างที่เห็นในหนังสือ Textbooks เรื่อง Computer Graphics ทั่วไปน่ะแหละ) ตอนนี้โลกมันไปถึงไหนแล้วก็ไม่รู้ อยากจะเล่น GPU กับพวก Shading Language เหมือนกัน ขอเวลา update กับแก้ความล้าหลังให้ตัวเองสักเทอมหรือสักปีนะ